เราจะสอนภาษาที่สองให้ลูกอย่างไรดี


วิธีง่าย ๆ ในการปลูกฝังภาษาอังกฤษให้ลูกก็คือ การสร้างบรรยากาศภายในบ้าน สร้างกิจวัตรประจำวันที่มีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ลูกรู้สึกว่าภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของทุกคน เช่น

1. Good morning. สวัสดียามเช้าจ้า (พูดทันทีเมื่อเด็กตื่นนอน และกระตุ้นให้เด็กใช้ประโยคนี้กับคนอื่น ๆ ในบ้านเมื่อได้พบหน้ากันครั้งแรกตอนเช้า และใส่ชื่อของบุคคลต่าง ๆ ตามหลังไปด้วยจะไดเรียนรู้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง เช่น Good morning,Papa, Good morning, Grandmother หรือ Good morning, Everyone.
2.  It’s nap time. ได้เวลานอนแล้วจ้า
3.  Do you like this? หนูชอบสิ่งนี้มั๊ยจ๊ะ (เปลี่ยนคำศัพท์แทนคำว่า this ได้เรื่อย ๆ เป็นการสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ ไปในตัว เห็นอะไรน่าสนใจก็ชี้ และถามประโยคนี้ได้เลย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการตอบ
4.  No,Idon’t like it. หรือ Yes, I like it. (ถ้าเป็นช่วงแรกให้ลูกตอบว่า No หรือ Yes ก็พอ แต่คุณพ่อคุณแม่อาจเติมประโยคหลังให้เด็ก ๆ และอาจแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อีกด้วย เช่น Do you like birds? ลูกอาจตอบว่า Yes. คุณแม่เติมได้ว่า Yes, you like it. (ชี้นิ้วไปที่ตัวลูก) I like it too. (ชี้นิ้วมาที่ตัวเอง)

เมื่อลูกเริ่มมีความคุ้นเคยกับประโยคภาษาอังกฤษบ้างแล้ว เริ่มใช้ประโยคใหม่ ๆ แต่ยังคงเน้นให้เป็นประโยคสั้น ๆ ที่เข้าใจง่ายเช่น “Listen to me” “Sit down” “Let’s go” เป็นต้น  นอกจากนี้ การเล่นเกมง่าย ๆ ที่สอดแทรกภาษาอังกฤษเมาเพื่อสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ประกอบไปด้วย ก็จะช่วยให้ลูกสนุกกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น เกมทายจำนวนนิ้ว (เริ่มได้ทันทีหลังจากคุณพ่อคุณแม่ได้สอนให้ลูกรู้จักจำนวน 1-5 เป็นภาษาอังกฤษ) โดยชูนิ้วจำนวนไม่เกิน 5 ซ่อนไว้ด้านหลัง ให้ลูกลองทายว่าคุณพ่อคุณแม่แอบชูนิ้วไว้เท่าไหร่เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อลูกเริ่มเล่นคล่อง ให้ลูกฝึกตอบเป็นประโยค คุณพ่อคุณแม่อาจถามว่า “How many finger behind my back?” ให้ลูกตอบว่า “It’s three” แทน “Three” เมื่อลูกเล่นได้คล่องมากขึ้น สลับให้เค้าเป็นผู้ถามบ้าง และอาจเปลี่ยนเป็นสิ่งของแทนนิ้วมือ

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจคิดว่า ไม่เก่งภาษาอังกฤษจะสอนลูกได้อย่างไร จริง ๆ แล้ว ความรู้ภาษาอังกฤษของพ่อแม่ส่วนใหญ่เพียงพอที่จะสร้างรากฐานการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับลูก ๆ ได้หรืออย่างน้อยก็พอที่จะสร้างให้ลูกน้อยรักการเรียนรู้ภาษาที่สองได้ เพียงแต่ต้องกล้าพูด กล้าบอกเขาด้วยประโยคภาษาอังกฤษง่าย ๆ

เมื่อลูกรู้สึกว่าการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุก เรียกเสียงหัวเราะ สร้างรอยยิ้มให้เขาได้ เท่ากับว่าได้สร้างรากฐานที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองให้กับลูกแล้ว ที่สำคัญไม่จำเป็นเลย ที่จะต้องฝึกให้ลูกท่องจำศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมากมายในวัยที่เขาไม่จำเป็นต้องจำ เรียนอย่างเล่น คือการเรียนรู้ที่ดีกับเด็ก ๆ มากที่สุด

บทความโดย: คุณครูนลิณีร์  คลังทวีคูณสุข  แห่งศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กเล็กและเนิร์สเซอรี่ Brain’n Joy

ปัญหาว่าด้วยเรื่อง “นม”ของลูก


·    ถาม : ลูกขวบกว่ายังกินนมมื้อดึกอยู่ทำยังไงดี ?
- เด็กวัยนี้ทานนมเป็นอาหารเสริมวันละ 18 -24 ออนซ์ และควรที่จะงดนมมื้อดึกได้แล้ว คุณแม่อาจใช้วิธีชงนมให้จางลง ไม่อร่อย จนกระทั่งใช้น้ำเปล่าแทน เพื่อให้ลูกรู้สึกว่านมมื้อดึกไม่อร่อย จะได้ไม่รู้สึกอยากกิน หรือค่อย ๆ ลดนมมื้อดึกครั้งละ 1 ออนซ์ ทุก ๆ 3-4 วัน ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ลูกค่อย ๆ ปรับตัวไปด้วย จนลูกเลิกกินนมมื้อดึกได้ในที่สุด ถ้างดนมมื้อดึกได้ลูกจะนอนหลับยาวตลอดทั้งคืน ซึ่งจะทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตหลั่งออกมาได้ดี และช่วยลดปัญหาฟันผุด้วย

·    ถาม :ใช้นำเย็นชงนมลูกได้หรือไม่ ?
- เมื่อก่อนเราจะชินกับการใช้น้ำอุ่นชงนมให้ลูก ปัจจุบันได้มีการพัฒนานมผง ให้สามารถละลายได้ทั้งในน้ำเย็นและน้ำอุ่น จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำอุ่นเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งความเชื่อที่ว่าลูกทานนมที่ชงจากน้ำไม่อุ่นจะทำให้ท้องอืดนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ที่สำคัญ น้ำที่ใช้ชงนมต้องเป็นน้ำสะอาดผ่านการต้มสุกแล้ว และทิ้งไว้ให้เย็นลงที่อุณหภูมิห้องก่อน และเราไม่ควรใช้น้ำร้อนชงนมลูก เพราะจะทำให้คุณค่าของวิตามินและเกลือแร่ในนมสูญเสียไป

·    ถาม : ลูกวัย 1 ขวบ สามารถดื่มนมกล่อง UHT สำหรับเด็กวัน 1 ขวบขึ้นไปแทนนมผงได้หรือไม่และจะได้รับสารอาหารเหมือนนมผงหรือไม่ ?
- นมกล่อง UHT ที่ระบุว่าสำหรับเด็กวัย 1 ขวบ ขึ้นไปนั้นไม่แตกต่างจากนมผงสูตรสำหรับเด็กเกิน 1 ขวบ ที่ปรับเสริมสารอาหารประเภทต่าง ๆ จนครบถ้วน นำไปชงแล้วมาบรรจุกล่องผ่านกระบวนการ UHT ออกมาเป็นนมน้ำ ข้อดีของนมกล่อง UHT ที่เห็นได้ชัดคือ เวลาเดินทางไปไหน ก็ไม่ต้องเตรียมขวดนมและน้ำสำหรับชงนม เพิ่มความสะดวกให้คุณพ่อคุณแม่ โดยที่เด็ก ๆ ก็ยังได้รับสารอาหารเหมือนกินนมผงเช่นเดิม

·    ถาม : อยากทราบว่า ควรเปลี่ยนนมให้ลูกเมื่อไหร่ ?
- เด็กวัย 6 เดือนแรก ควรได้รับนมแม่เป็นหลัก แต่เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่บางท่านอาจมีความจำเป็นต้องให้นมผงแทน ก็มีหลักการเลือกเปลี่ยนนมดังนี้

นมสูตร 1 คือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกแรกเกิด – 1 ปี เป็นสูตรนมที่ย่อยง่าย เพราะมีการดัดแปลงให้มีปริมาณโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เหมาะสมกับทารก ซึ่งระบบการย่อย และการดูดซึมอาหารมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ การพัฒนาสมองและจอประสาทตาในวัยนี้มีมากที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกนมที่มีสารอาหารสำคัญคือ ดีเอชเอ เออาร์เอ และโคลีน ในปริมาณที่มากพอ

นมสูตร 2 คือนมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินบางตัวสูงขึ้น เนื่องจากลูกเติบโตขึ้น มีการเคลื่อนไหว ใช้กล้ามเนื้อแขนขามากขึ้น ความต้องการพลังงานจึงเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณดีเอชเอ เออาร์เอ และโคลีนในนมก็ยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการของสมองอย่างต่อเนื่อง

กรณีที่ลูกดื่มนมผงสูตร 1 อยู่ เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไปยังดื่มนมได้ปริมาณมากเพียงพอ ประมาณวันละ 24-32 ออนซ์ น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ คุณแม่สามารถให้นมสูตร 1 ไปจนลูกอายุ 1 ขวบแต่ถ้าลูกน้อยดื่มนมสูตร 1 ได้น้อยลง รับประทานอาหารเสริมได้น้อยอาจได้รับสารอาหารบางตัว เช่น โปรตีนไม่เพียงพอ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นนมสูตร 2 ให้ลูกได้

ถ้าลูกอายุขวบกว่าแล้ว ทานข้าวเป็นอาหารหลักได้น้อยและไม่ครบ 3 มื้อ ควรให้ลูกทานนมสูตร 2 นี้ต่อเนื่อง จนกว่าลูกจะได้ข้าวครบ 3 มื้อ และมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการจึงค่อยเปลี่ยนเป็นนมสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบครับ

หากลูกไม่สบายเมื่อไหร่ควรพาไปหาหมอ

เมื่อลูกไม่สบาย บางครั้งเราก็สามารถดูแลให้หายเองได้ ไม่จำเป็นต้องพาไปหาหมอเสมอไป แต่อาจมีบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าควรพาไปหาหมอหรือไม่ ในกรณีไหนควรพาลูกไปหาหมอได้แล้ว มีคำแนะนำมาฝากกันครับ การมีไข้เพียงอย่างเดียว ยังไม่ควรพาลูกไปหาหมอ ยกเว้นกรณีต่อไปนี้

     ·   ลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เพราะเด็กเล็กจะสักเกตอาการยาก ต้องรีบพาไปให้คุณหมอช่วยดู
·   ลูกอายุเกิน 3 เดือน มีอุณหภูมิสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ไม่ใช่หลังได้รับการฉีดวัคซีน
·   ลูกมีไข้ร่วมกับการมีอาการหงุดหงิด งอแง หาสาเหตุไม่ได้ เช่นร้องกวนมากผิดปกติเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้า หรือเมื่อลูกขยับตัว หรือลูกมีอาการซึมและไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือวังกล อย่าลังเลรีบพาไปหาหมอได้เลย
·  ลูกนอนซึม ไม่ยอมทานหรือดื่มน้ำ ไม่ปัสสาวะเลยใน 6 ชั่วโมง รวมถึงถ้าลูกมีอาการไอมาก นอนไม่ได้ ต้องพาไปพบหมอทันที
·   หากลูกอาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง ใน 6 ชั่วโมง หรือท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งใน 6 ชั่วโมง ก็ต้องพาไปพบหมอเช่นเดียวกัน
·   อาการอีกอย่างหนึ่งที่ต้องรีบพาไปหาหมอ คือ ปวดศีรษะมากโดยไม่มีไข้ หรือปวดศีรษะและมีอาเจียนร่วมด้วย รวมทั้งถ้าเกิดลมพิษทั่วตัว ร่วมกับหน้าและปากบวม อาการแบบนี้ต้องพาลูกไปพบหมอโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ถ้าไปพบหมอแล้ว แต่ใน 24-48 ชั่วโมงต่อมา อาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ต้องกลับไปพบหมออีกครั้งหนึ่งครับ

การเช็ดตัวลดไข้ลูกด้วยน้ำอุ่น – น้ำเย็น แตกต่างกันอย่างไร ?

น้ำอุ่น – จะทำหน้าที่คล้ายเหงื่อ เมื่อเราเอามาเช็ดตัวลูก ก็จะระเหยพาความร้อนไปด้วย น้ำอุ่นช่วยให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้ดี เลือดสามารถไหลมาสู่ผิวได้ดี เป็นการนำความร้อนจากภายในร่างกายมาสู่ผิวได้ดีขึ้น น้ำอุ่นไม่ทำให้ลูกรู้สึกถึงความแตกต่างของอุณหภูมิขณะเช็ดตัวมากเกินไป ไม่สะดุ้ง ไม่ผวา กล้ามเนื้อไม่สั่น

น้ำเย็น – ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิมาก ลูกจะสะดุ้ง ผวา และรู้สึกไม่สบายตัว ความแตกต่างของอุณหภูมิที่มีมากนี้ อาจทำให้ลูกชักได้ด้วย และความเย็นจะทำให้กล้ามเนื้อสั่น ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนมากขึ้น น้ำเย็นทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว ร่างกายจะไม่สามารถสูบฉีดเลือกจากภายในมาที่ผิวหนังเพื่อถ่ายเทความร้อนได้ การถ่ายเทความร้อนอาจมีได้เฉพาะในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น  ดังนั้นการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจึงไม่ได้ช่วยลดไข้แต่อย่างใด

10 วิธีรับมือโรคข้ออักเสบ


1.    ทำความเข้าใจกับอาการของคุณ - การทำความเข้าใจกับโรคคือก้าวแรกของการควบคุมโรคข้ออักเสบ ปัจจุบันมีองค์กรมากมายจัดทำแผ่นพับหรือเว็บไซต์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบแก่ประชาชนฟรี หรือจะเลือกปรึกษาแพทย์และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขก็ได้
2.   รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ จะช่วยให้ข้อสะโพกและข้อเข่าไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากจนเกินไป
3.   ออกกำลังกาย – การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อแข็งแรง อาการปวดลดน้อยลงเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และรู้สึกดีขึ้น ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวคุณดู แต่ไม่ว่าจะเลือกออกกำลังกายแบบใดต้องเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และระมัดระวังเสมอ
4.   จัดท่าทาง – พยายามยืนตัวตรงให้เป็นนิสัย รวมถึงใช้ข้อขนาดใหญ่และแข็งแรงในการยกของหรือถือสัมภาระต่าง การจัดวางท่าทางให้เหมาะสมจะช่วยถนอมข้อและหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้
5.   ขยับตัวไปมา – การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ช่วยคลายอาการฝืดของกล้ามเนื้อและข้อ นอกจากนี้การยืดเส้นยืดสายยังช่วยบรรเทาอาการตึง และทำให้คุณสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว
6.   พักผ่อน – แบ่งเวลาพักระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ หรือทำงานหนักเป็นเวลานานอาจเร่งให้ข้อยิ่งเสื่อมและสึกหรอเร็วขึ้น
7.    ขอตัวช่วย – ใช้อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น หมอนรองข้อมือ ซึ่งมีขนาดพอเหมาะและช่วยให้รู้สึกสบาย
8.    รับประทานอาหารให้เหมาะสม – ส้มเป็นตัวเลือกเพื่อสุขภาพที่แสนวิเศษ วิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระล้วนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ขณะที่กรดโฟลิกช่วยบรรเทาผลข้างเคียงของยารักษาโรคข้ออักเสบบางตัวได้
9.   ผ่อนคลาย – การฟังเพลงหรือหัวเราะให้เต็มเสียงช่วยคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็สามารถช่วยคลายอาการตึงในกล้ามเนื้อและปวดที่ข้อได้
10.ใช้ยาให้ได้ประโยชน์สูงสุด – รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเสมอ แต่อย่าลืมว่าบางครั้งอาจจะต้องรอนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าจะเห็นผล หากเกิดอาการข้างเคียงที่ชวนให้ไม่สบายใจ ก็รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำทันที


ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อข้ออักเสบเฉียบพลัน


ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันมีได้หลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อุบัติเหตุจากการหกล้ม ข้อพลิก หรือเป็นโรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม การติดเชื้อโรคในข้อ และเลือดออกในข้อ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะดูแลตัวเองด้วยวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้ก่อนจะไปพบแพทย์ หรือเผลอ ๆ อาจจะหายโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ก็ได้
วิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น

·    1-2 วันแรก พักและงดใช้งาน โดยอาจสวมปลอกหุ้มข้อหรือใช้ผ้าพันรอบข้อที่มักต้องมีการเคลื่อนไหว รวมถึงประคบรอบ  ข้อด้วยผ้าเย็นนานครั้งละ 15-20 นาทีทุก 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกระคบอุ่นด้วยผ้าชุบน้ำร้อนในวันรุ่งขึ้น โดยประคบนานครั้งละ15 นาทีทุก 4 ชั่วโมง หากต้องการใช้ยาแก้ปวด ให้รับประทานพาราเซตามอล 1 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) 3-4 เวลาหลังอาหาร แต่หากจะใช้ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็ดเสด เช่น ไอบูโปรเฟน โวลทาเรน เซลีคอกสิบ และอาร์คอกเซีย เป็นต้น จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยที่มีโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล มีเลือดออกง่าย โรคไต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ครีมนวดแบบร้อนหรือเย็นนวดคลึงเบา ๆ รอบข้อวันละ 3-4 ครั้งแต่ห้ามใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์อย่างเด็ดขาย และสำหรับในกรณีที่ข้อเข่าอักเสบขอแนะนำให้ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขา โดยเหยียดขาออกไปและให้ด้านหลังของเข่าแตะกับพื้นมากที่สุด ค้างอยู่ในท่านั้นนานครั้งละ 5-10 วินาทีแล้วพัก ควรทำซ้ำอีกวันละหลาย ๆ ครั้ง

·    วันที่ 2-5 ถ้าอาการปวดอักเสบลดน้อยลงและไม่เกิดผลข้างเคียงก็ให้รับประทานยาเดิมต่อ แต่เพิ่มการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวข้อให้มากขึ้นทีละน้อยทุกวัน ในระยะแรกอาจใช้มือช่วยจับข้อเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวก่อน พยายามใช้ระยะเวลาในการฝึกนานครั้งละ 5-10 วินาที วันละหลายา ๆ ครั้ง ขึ้นกับอาการไม่สบายที่ข้อภายหลังฝึกและความทนทานต่อการฝึกของผู้ป่วย

·    วันที่ 6-7 พิจารณาหยุดยารับประทานเมื่อข้อหายเกือบเป็นปกติและทำการฝึกข้อเพื่อใช้งาน โดยอาจใช้เครื่องช่วยพยุงข้อก่อนในระยะแรก ก่อนที่จะปล่อยให้ข้อทำงานโดยอิสระตามปกติเมื่อหายดี

ข้ออักเสบเฉียบพลันที่ต้องรีบไปพบแพทย์

อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่เราต้องรีบไปแพทย์ในทันที หากเกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันลักษณะดังต่อไปนี้

1 .เกิดภายหลังอุบัติเหตุอย่างรุนแรง
2. อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังการดูแลรักษาเบื้องต้น
3. มีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร ซึมลง
4. มีการติดเชื้อในร่างกายร่วมอยู่ด้วย
5. เกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่นผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ป่วยที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
6. เกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อเลือดออกได้ง่าย เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย โรคเลือด เกล็ดเลือดต่ำ มีการใช้ยาแอสไพรินหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นต้น
7. มีข้ออักเสบนานเกิน 2 สัปดาห์
8. มีข้ออักเสบเฉียบพลันเป็น ๆ หาย ๆ มาก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค

การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อยก่อนคลอด


การเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์คือประสบการณ์ที่พิเศษสุด เมื่อเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ในเดือนที่ สอง ลูกตัวน้อยๆ จะมีตา จมูก และหูที่เรามองเห็นได้อย่างชัดเจนทางอัลตร้าซาวนด์ เมื่อถึงเดือนที่ห้า การได้ยินของ ลูกจะพัฒนาอย่างเต็มที่ ความสามารถใหม่ในการจดจำเสียงของคุณแม่และเสียงที่คุ้นเคยต่างๆ ในสภาพแวดล้อม รอบตัวเขาก็จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

การกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์โดยใช้เสียงดนตรีที่เปิดให้เขาฟังเป็นประจำอาจช่วยให้ ลูกน้อยรู้สึกมั่นใจและผ่อนคลาย หลังจากที่คลอดออกมา นอกจากนี้ คุณแม่และลูกน้อยจะค้นพบวิธีอันแสนพิเศษอย่างรวดเร็วในการสาน ความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาระหว่างกัน

การเริ่มต้นการกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์ด้วยเสียงดนตรี

การกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์นั้นคือการใช้สิ่งเร้า เช่น เสียง (เสียงของคุณแม่หรือเสียงดนตรี) การเคลื่อนไหว แรงกด การสั่นสะเทือนและแสงในการสื่อสารกับลูกน้อยก่อนคลอด ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์มารดาจะเรียนรู้ที่จะจดจำและ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และประสาทสัมผัส การกระตุ้นลูกน้อย นั้นจะช่วยให้ลูกน้อยสื่อสารกับคุณแม่และคุณพ่อคุณผ่านการเคลื่อนไหวของเขา ขณะที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งจะช่วยสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าเฉพาะบางอย่าง (เช่น เสียงของคุณ) และที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นการช่วยพัฒนาความ ทรงจำของลูกน้อย

การเลือกเสียงดนตรีที่เหมาะสำหรับลูกน้อย

ลูกน้อยในครรภ์จะขยับตัวตามจังหวะเพลงคลาสสิคของบีโธเฟ่นหรือไม่ หรือคุณแม่รู้สึกว่าเขาเตะอย่างแรงทุกครั้งที่ ได้ยินเพลงของมาดอนน่าจากวิทยุในรถ ด้วยเสียงดนตรีที่ผสมผสานกันอย่างเหมาะสมและการเปิดเพลงซ้ำๆ ลูกน้อย อาจชอบฟังเพลงหลายๆ ประเภทผสมกันก็ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชส่วน ใหญ่เห็นพ้องกันว่าเสียงดนตรีแทบทุกประเภท เหมาะสำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อย “ความหลากหลายของเพลงหลายๆ ประเภทมีความสำคัญและอาจเป็นประโยชน์ต่อทักษะด้านการเขียน การอ่าน และทักษะด้านภาษาของลูกน้อยในอนาคต” กล่าวโดย ดร. ฟิลลิป เอ เดฟินา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย แพทย์แห่งนิวยอร์ก แผนกจิตเวชและประสาทวิทยาพฤติกรรม และหัวหน้านักจิตวิทยาประสาท และผู้อำนวยการการ รักษาทางประสาทที่ห้องปฏิบัติการวิจัยทางสมองแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

การวิจัย

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แต่ละฉบับเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับผลของการกระตุ้นทารกในครรภ์ด้วยเสียงดนตรีมีความ แตกต่างกันมาก นักวิจัยเด็กหลายท่านเชื่อว่าไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักที่สนับสนุนทฤษฎีที่ ว่าการกระตุ้นทารกในครรภ์ ด้วยเสียงดนตรีจะช่วยให้เด็กมีสติปัญญาดีขึ้นในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ กลับกล่าวตรงกันข้าม โดยแย้งว่ามี การศึกษาโดยตรงที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อทารกคลอดมา ทารกจะมีความสามารถแต่กำเนิดในการจดจำเสียงมารดา และสามารถตอบสนองต่อเสียงดนตรีที่เขาคุ้นเคยที่ครอบครัวเปิดให้เขาฟัง ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์

นักวิจัยจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยการใช้อัล ตร้าซาวนด์ตรวจดูทารกในครรภ์ผ่าน ทางมอนิเตอร์และโทรทัศน์ไฟเบอร์ออพติค ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจของชีวิตน้อยๆ ที่กำลังพัฒนาการอยู่ในครรภ์ การศึกษาโดยนักวิจัย ด้านเด็กเล็กระดับแนวหน้าสองคนชื่อ ธอมัส อาร์ เวอร์นี่และเรเน แวนเดอคาร์ ได้ให้รายละเอียดว่าเด็กทารกที่ได้รับ การกระตุ้นขณะอยู่ในครรภ์ จะมีพัฒนาการในระดับสูงในด้านการมองเห็น การได้ยิน การใช้ภาษาและการ เคลื่อนไหว ธอมัสและเรเนกล่าวต่อไปว่าเด็กในกลุ่มนี้จะหลับได้ดีขึ้นและตื่นตัวต่อสภาพ แวดล้อมและสิ่งรอบตัวมาก ขึ้น และมีความสุขมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นใดๆ ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์

ทางสายกลางดีที่สุด

ดังเช่นหลายๆ สิ่งในชีวิต ดร. ฟิลลิป เชื่อว่าการกระตุ้นทารกในครรภ์ด้วยเสียงดนตรีนั้นควรทำอย่างพอดีๆ “เวลาที่ เหมาะที่สุดสำหรับการกระตุ้นลูกน้อยคือเวลาที่คุณแม่กำลังจะพักสักงีบหรือ นอนพักผ่อนตอนกลางวัน” เธอกล่าว แม้ว่าการกระตุ้นลูกน้อยมากเกินไปจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของลูกน้อยก็ ตาม แต่ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกรับไม่ไหว กับความสนใจที่มีมากเกินไปและเด็กอาจหยุดตอบสนองต่อความพยายามของคุณแม่ก็ ได้

คุณควรลองฟังอารมณ์ของตัวเอง หากคุณเบื่อที่จะฟังโอเปร่าเพลงเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ลูกน้อยก็อาจรู้สึกเช่นเดียวกัน ช่วงเวลานี้ควรเป็นเวลาพิเศษแห่งความสุขและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง คุณแม่ คุณพ่อกับลูกน้อย คุณพ่อ คุณแม่ควรจำไว้ว่า การกระตุ้นด้วยเสียงเพลงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าว่าจะใช้เวลามากน้อยเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ของประสบการณ์อันสุดพิเศษที่พ่อแม่ลูกมีร่วมกันต่างหาก

มหัศจรรย์แห่งพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์


ปัจจุบันเราทราบกันดีแล้วว่า เด็กในครรภ์สามารถรับรู้และเรียนรู้ได้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์ ไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ซึ่งจะเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างพื้นฐานการพัฒนาสมองของลูกน้อย เพราะขณะที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายลูกน้อยกำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น เซลล์สมองก็จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน หากคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองอย่างเพียงพอ ตลอดจนเรียนรู้วิธีกระตุ้นวงจรการทำงานของสมองลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายนับเป็นโอกาสทองที่คุณแม่จะสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับสมองของลูกในอนาคต

พัฒนาการของร่างกายลูกน้อยในครรภ์


เดือนที่ 1 (หลังจากปฏิสนธิ – 4 สัปดาห์)

ลูกน้อยในครรภ์อายุ 1 เดือนจะเริ่มสร้างอวัยวะต่าง ๆ แล้วคือ 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ลำตัวมีลักษณะคล้ายหางลูกอ๊อดงอ ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนหลังและไขสันหลัง ปลายสัปดาห์ที่ 3 หัวใจเริ่มเต้น สัญญาณบ่งบอกถึงการอุบัติขึ้นของอีกชีวิตหนึ่งบนโลกใบนี้ ลูกน้อยอยู่ในช่วงเริ่มสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นช่วงที่ต้องเอาใจใส่ดูแลร่างกายอย่างดีที่สุด ทั้งเรื่องอาหารการกิน ยา และสารพิษต่าง ๆ

เดือนที่ 2

หัวของลูกจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองเติบโต และมีพัฒนาการมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ เริ่มมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่าง ๆ เซลล์ประสาทเริ่มเชื่อมโยงถึงกันเหมือนระบบสายไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเป็นระบบประสาทที่ซับซ้อนขึ้น อวัยวะสำคัญต่าง ๆ เริ่มสร้างจนเกือบครบ หัวใจมีโครงสร้างสมบูรณ์ ช่วงนี้คุณแม่จึงควรได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้ทันกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของทารกในครรภ์

เดือนที่ 3

อวัยวะสำคัญทั้งหมดของลูกสร้างครบสมบูรณ์หมดแล้ว มีซี่โครงและกระดูกที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน และเริ่มมีแคลเซียมมาสะสมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นกระดูกแข็งอวัยวะเพศเริ่มแยกได้ชัดเจนขึ้น เริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ลูกสามารถดินไปมาได้ตลอดเวลา แต่คุณแม่ยังไม่สามารถรู้สึกได้

เดือนที่ 4

ลูกน้อยเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ส่วนขายาวกว่าแขน โครงกระดูกหนาแน่นขึ้น มีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น เริ่มได้ยินเสียงของแม่ และเสียงหัวใจของแม่อวัยวะเพศภายนอกบ่งบอกเพศได้ชัดเจนขึ้น ในเดือนนี้จำนวนของเซลล์ประสาทจะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนของผู้ใหญ่ และมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกสามารถขยับแขนขาเคลื่อนไหวได้

เดือนที่ 5

ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะช้าลงกว่าช่วงแรก ๆ อวัยวะต่าง  พัฒนาสมบูรณ์ขึ้น ระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์จนสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่าง  ๆ ได้ดี สามารถดิ้น ยืดตัว พลิกตัวได้ขึ้น สามารถรับรู้ถึงแรงกระทกหน้าท้องของแม่ สามารถเคลื่อนไหวหนีได้ สามารถรับรู้รส แยกรสหวานและขมได้ เริ่มฟันน้ำนมเกิดขึ้นภายในเหงือก รวมทั้งมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

เดือนที่ 6

ลูกแข็งแรงมากขึ้น ตัวยาวขึ้น เริ่มได้สัดส่วนกับหัวมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น แขนขามีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ ความยาวของขาได้สัดส่วนกับลำตัว เซลล์สมองทำหน้าที่จดจำ เริ่มทำหน้าที่ ทำให้ลูกมีความสามารถในการจดจำ และเรียนรู้ได้แล้ว ลูกจึงสมารถจดจำเสียงของพ่อและเสียงของแม่ที่พูดกับเขาบ่อย ๆ ได้

เดือนที่ 7

ระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สมองจะโตขึ้นจนเมภายในกะโหลกศีรษะและมีร่องบนเนื้อสมองเพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทจะประสานกันอย่างสมบูรณ์ตื่นตัวเต็มที่ ลูกสื่อความต้องการและความรู้สึกตอบโต้แม่ได้ด้วยการดิ้น และเตะ ลูกจะเตะและดิ้นแรงหากมีเสียงดัง หรือเวลาหิว และสามารถเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงดนตรี

เดือนที่ 8

สัดส่วนของร่างกายของลูกเท่ากับเด็กคลอดครบกำหนดแล้ว เพียงแต่ยังมีขนาดตัวเล็กอยู่ โดยทารกมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1,600-2,000 กรัม อวัยวะต่าง ๆ ของลูกสมบูรณ์เกือบหมดยกเว้นปอดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทประสานกันอย่างสมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น สามารถเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ครรภ์ได้อย่างคล่องแคล่ว ลูกเริ่มพัฒนาความสามารถในการมองเห็น รูม่านตาสามารถขยายและหรี่ได้ สามารถกระพริบตาได้ เพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ในถุงน้ำคร่ำได้ สามารถปรับภาพให้คมชัดในระยะใกล้ ๆ มีการฝึกกลืนและดูด ในกรณีที่เป็นเด็กผู้ชายลูกอัณฑะจะลงไปที่ถุงอัณฑะแล้ว

เดือนที่ 9

ลูกในครรภ์โตขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้แม่มีความรู้สึกถ่วงในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ยิ่งช่วงท้าย ๆ ใกล้คลอด ลูกเริ่มกลับเอาหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ก็ยิ่งทำให้มีอาการปวดถ่วงมากขึ้นอีก เดือนสุดท้ายนี้ลูกจะมีไขมันใต้ผิวหนังสะสมมากขึ้น จนอ้วนเต็มพื้นที่ในมดลูก เวลาดิ้นจึงรู้สึกเหมือนลูกโก่งตัว บางทีทำให้แม่รู้สึกเจ็บได้ ปอดเกือบสมบูรณ์เต็มที่ มีการเคลื่อนไหวของทรวงอก เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจ ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์นี้ ระบบภูมิต้านทานโรคของลูกยังไม่สามารถทำงานได้ ต้องอาศัยภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางรกไปก่อน แต่หลังคลอดภูมิต้านทานจากแม่ก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานสำหรับโรคบางอย่างทันที่ที่ลูกคลอดออกมา

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์


ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน)

ช่วงนี้รูปร่างของคุณแม่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยังดูไม่ออกว่าตั้งครรภ์ จะเริ่มเห็นมีพุงนิด ๆ ในช่วงท้าย ๆ ของไตรมาสแรก น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเดิม หรือบางรายอาจมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อย เนื่องจากคุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะรู้สึกว่าอะไรก็ไม่อร่อย ดื่มน้ำยังขม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขี่เกียจ อยากนอนทั้งวัน ตอนเย็น ๆ บางรายอาจรู้สึกเหมือนมีไข้ตัวรุม ๆ ส่วนด้านอารมณ์ความรู้สึก ด้วยระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แปรปรวนได้งาย อาจสับสน เครียด และกังวลใจ มีอาการแพ้ท้อง บางครั้งเอาแต่ใจตนเอง หงุดหงิด ขี้รำคาญ ขาดความมั่นใจ บางคนอาจซึมเศร้า ร้องไห้ได้ เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่งสิ่งต่าง ๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณแม่ก็อาจเริ่มรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ไตรมาที่ 2 (4-6 เดือน)

เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ได้ชัดเจนมากขึ้น หน้าท้องขยายเพิ่มขึ้นเต้านมโตขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะตามข้อพับต่าง ๆ เริ่มสังเกตเห็นเส้นดำ ๆ กลางหน้าท้อง หัวนมเริ่มมีสีคล้ำขึ้น และรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส เส้นเลือดฝอยตามผิวหนังปรากฏชัด เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย บางรายก็เริ่มมีอาการปวดหลังจากรูปทรงของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป  ในไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะมีอารมณ์ที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอื่น ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ เมื่ออาการแพ้ท้องหมดไป คุณแม่ก็มีความรู้สึกดี ๆ ต่อการตั้งครรภ์มากขึ้น ปรับตัวได้มากขึ้น อารมณ์เริ่มผ่อนคลาย ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เมื่อลูกเริ่มดิ้นก็เริ่มรับรู้ถึงการมีชีวิตของลูกในครรภ์ ความรู้สึกของความเป็นแม่ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่จึงพยายามขวนขวายหาความรู้ และตระเตรียมเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับลูก

ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)

ช่วงนี้ ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณแม่อุ้ยอ้าย รู้สึกเหนื่อยง่าย ยิ่งช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัด ตึงแน่นท้อง เมื่อมดลูกโตขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะกดทับทำให้เจ็บหัวหน่าว ปวดถ่วงเชิงกราน โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืน น้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขึ้นจะกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย จนบางครั้งในขณะที่ลูกดิ้นอาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดได้ ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ มดลูกมีการขยายตัวมากขึ้น ก็จะไปเบียดทางด้านบน ทำให้พื้นที่ของปอดและกระเพาะอาหารเล็กลง เมื่อปอดมีขนาดเล็กลงก็จะทำให้เหนื่อยง่าย เหมือนหายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจถี่ขึ้นมากกว่าปกติ และเมื่อกระเพาะอาหารถูกเบียดให้เล็กลง ก็จะกินอาหารได้น้อยลง รู้สึกจุกแน่นได้ง่าย น้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารก็จะล้นย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้ง่าย ทำให้รู้สึกแสบร้อนในอก การนอนหนุนหมอนสูง หรือดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอน จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

ช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการบวมที่ข้อเท้า และนิ้วมือได้ คุณแม่บางท่านอาจจะนอนไม่สบาย เนื่องจากท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ควรนอนตะแคงกล้ายท่ากอดหมอนข้างจะช่วยให้หลับสบายขึ้น ระยะนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกเครียด และวิตกกังวลบ้าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ การเตรียมตัวคลอด การเจ็บท้องคลอดและการเลี้ยงลูกหลังคลอด ทางที่ดีควรจะไปหาหมออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณหมอตรวจครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากมีเรื่องสงสัย ก็อย่าลังเลที่จะสอบถามให้แน่ใจไม่ควรเก็บความกังวลไว้คนเดียว ที่สำคัญอย่าเสียเวลาฟังคำแนะนำจากคนที่ไม่รู้จริงเพราะแทนที่จะดีขึ้น อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้

น้ำหนักคุณแม่ที่ควรเพิ่มขั้นในแต่ละเดือน

น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่เหมาะสม และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่และลูกในครรภ์น้อยที่สุด คือ ช่วงน้ำหนักระหว่าง 12-15 กิโลกรัม ซึ่งสัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุครรภ์จะแตกต่างกันดังนี้

      · ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม
      · ไตรมาสที่ 2 (4-6 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 กิโลกรัม
      · ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ไหน  สัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 12-15 กิโลกรัม จะกระจายตามส่วนต่าง ๆ ดังนี้

      · เจ้าตัวเล็ก                                               ประมาณ 3,000 กรัม
      · รก                                                          ประมาณ 500 กรัม
      · น้ำคร่ำ                                                    ประมาณ 800 กรัม
      · มดลูก                                                     ประมาณ 900 กรัม
      · เต้านม                                                    ประมาณ 400 กรัม
      · เลือดและน้ำในร่างกายคุณแม่                  ประมาณ 1,200 กรัม
      · ไขมันและโปรตีน                                     ประมาณ 5,000 กรัม


ปวดหลัง มีทางแก้ แค่รู้วิธี

ปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากที่มาพบแพทย์ด้วยกลุ่มอาการปวด หรือ Pain Syndrome โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหลัง ซึ่งอาจจะเป็นได้ตั้งแต่การปวดเฉพาะช่วงเอว หรือปวดขึ้นมาถึงบริเวณต้นคอ โดยในรายที่ปวดมากอาจเคยได้รับการผ่าตัดมาบ้างแล้ว ส่วนรายที่เป็นไม่มากแม้จะไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ก่อความรำคาญให้เจ้าตัวไม่น้อย หรือบางคนต้องเปลี่ยนงาน เปลี่ยนอาชีพ หรือหยุดกิจกรรมบางอย่างจากการปวดหลังทีเดียว เพราะฉะนั้นเรียนรู้โรคปวดหลังเอาไว้บ้าง อาจช่วยคุณได้มากกว่าที่คิด

สาเหตุของอาการปวดหลัง

อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่พลได้บ่อยก็คือ ลักษณะท่าทางในการทำงาน ทั้งคนที่ทำงานนั่งโต๊ะอย่างงานออฟฟิศ หรือคนใช้แรงงานแบกหาม โดยกลุ่มที่ทำงานนั่งโต๊ะมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการคล้าย ๆ กันคือ ปวดหลัง ปวดคอ เมื่อยคอ แบบเป็น ๆ หาย ๆ อันเนื่องมาจากจอคอมพิวเตอร์อยู่สูงเกินไปทำให้ต้องเงยคออยู่ตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่รู้ตัว หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเกิดจากต้องก้มคลเพื่อดูหน้าจอหรือมองคีย์บอร์ดในขณะทำงาน อาการปวดหลังของคนทำงานออฟฟิศจึงจัดอยู่กลุ่ม Office syndrome ที่มาแรงไม่แพ้อาการอื่น ๆ ส่วนกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้แรงงานหนัก ๆ อาจมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ร้าวลงแขนหรือขา ร่วมกับอาการปวด ชาหรืออ่อนแรง

สำหรับสาเหตุรอง ๆ ลงมาคือ การเสื่อมของกระดูกหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่ากลุ่มแรก สาเหตุที่เหลือกคือกลุ่มที่เป็นโรคแอบแฝง เช่น วัณโรค การติดเชื้อ หรือเนื้องอกในกระดูกสันหลัง หรือไขสันหลัง เป็นต้น

การรักษาอาการปวดหลัง

การรักษาที่ถูกต้องที่สุดคือรักษาให้ตรงกับสาเหตุของอาการปวดหลัง ยกเว้นถ้าหาสาเหตุที่แน่นอนไม่พบ ก็มักจะต้องรักษาแบบประคับประคอง เช่น

· หากปวดหลังเนื่องจากน้ำหนักตัวมากไป ก็ควรลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยได้มากและเร็วที่สุด
· หากปวดเนื่องมาจากกลุ่มอาการ Office syndrome ก็ควรไปแก้ที่สาเหตุ เช่น ปรับระดับจอให้เหมาสม คือพอดีกับระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ และพยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย  ๆ รวมทั้งมีการพักสายตาและลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายเมื่อนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ
· หากปวดเนื่องจากการยกของหนัก ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือยกให้ถูกวิธี เช่น ย่อเข่าลงไปแล้วจึงค่อยยกของ แทนที่จะใช้วิธีการก้มลงไปยก
· การลดน้ำหนักตัวเป็นการรักษาเชิงป้องกันที่ดีที่สุด และสามารถใช้ได้กับแทบจะทุกสาเหตุ เพียงผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังสามารถลดน้ำหนักได้เพียง 10% ก็จะรับรู้ได้ถึงความแตกต่างทันที แต่ไม่น่าเชื่อว่าการลดน้ำหนักตัวดูเหมือนจะเป็นวิธีการรักษาที่ทำได้ยากกว่าวิธีอื่น
· สำหรับความผิดปกติอื่นที่อาจจะเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้อย่างเช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเสื่อม อันเนื่องมาจากอายุหรือการใช้งานอย่างหนักมานาน ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท ในกรณีเช่นนี้การรักษาจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยในรายที่เป็นมากอาจต้องผ่าตัด แต่หากเป็นไม่มาก อาจพิจารณาให้รับประทานยาและลดน้ำหนักตัวลง
· โรคไต ก็เป็นอีกโรคที่มักทำให้ปวดหลัง โดยสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นอาการปวดหลังจากโรคไต ก็คือ มักมีอาการปวดรุนแรงทันที มีไข้ ปัสสาวะเปลี่ยนสี แสบ ขัดเวลาถ่ายเบา รวมถึงอาการปวดจะรุนแรงมากถ้ามีการกระแทกที่ชายโครงด้านหลังทั้งสองข้าง ซึ่งในกรณีเช่นนี้คงต้องรักษาที่สาเหตุคือโรคไตนั่นเอง

โรคเอดส์ไม่สามารถติดต่อได้ในกรณีใดบ้าง?


ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในทุกส่วนของโลก รวมทั้งประเทศไทยล้วนเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นความรู้ความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยทุกคนควรทราบว่าเอดส์ติดต่อและไม่ติดต่อในกรณีใดบ้าง..

จะได้มีความรู้ในการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม ไม่วิตกกังวลจนเกิดเหตุ เอดส์มีหนทางการติดต่อหลัก ๆ อยู่ 2 วิธี นั่นคือ ทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด ซึ่งในกรณีหลังอาจเกิดจากการใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ การได้รับเลือดที่มีเชื้อเอดส์ หรือการถูกของมีคมที่มีเชื้อเอดส์ บางคนอาจกลัวการติดเชื้อ HIV จากการตัดผม ซึ่งในกรณีนี้เป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะเชื้อไม่สามารถอยู่ในอากาศได้นาน


แต่โรคเอดส์จะไม่ ติดต่อในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารร่วมกัน การใช้โทรศัพท์สาธารณะ การใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือกระทั่งการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะทั่วไป กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คุณติดเชื้อเอดส์ค่ะ
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่ติดเชื้อเอดส์ ก็อย่าตั้งข้อรังเกียจหรือระมัดระวังอย่างไร้เหตุผลนะคะ เพราะความเข้าใจและความรัก คือ สิ่งที่ผู้ติดเชื้อเอดส์ต้องการมากที่สุด และมีส่วนอย่างมากกับการดุแลสุขภาพให้แข็งแรง

มาทำความรู้จักกับยาต้านไวรัส HIV

เป้าหมายในการรักษาด้วยยาต้านไวรัส HIV คือ การควบคุมจำนวนเชื้อไวรัส HIV ในร่างกายให้มีจำนวนน้อยที่สุด และนานที่สุด เป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันหรือ ซีดี4 ขึ้นมาใหม่ จนอยู่ในระดับปกติ เพื่อให้ ซีดี4 ได้ทำหน้าที่ในการกำจัดและควบคุมเชื้อโรคต่าง ๆ เหมือนปกติ ซึ่งเป็นการป้องกันการป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส

หัวใจสำคัญของการรักษาด้วยยาต้านไวรัส HIV

      1.   ยาต้านไวรัส HIV ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ HIV ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปจากร่างกายได้ ดังนั้น จึงต้องกินยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่อง เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย และสามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีไว้ได้ตลอดเวลา

2.  ยาต้านไวรัส HIV ไม่ได้ทำหน้าที่โดยตรงในการป้องกันและรักษาโรคฉวยโอกาส ถ้าผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านฯยังมี ซีดี4 ต่ำกว่า 200 หรือป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส การได้รับการป้องกันและรักษาโรคฉวยโอกาสเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

3.  ยาต้านไวรัส HIV มีด้วยกันหลายสูตร ยาสูตรเดียวกันให้ผลการรักษาต่างกันไป และการรักษาด้วยยาต้านฯ ไม่ทำให้เห็นผลในทันที หรืออาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้นถ้าเริ่มการรักษาด้วยยาต้านฯ แล้วไม่ได้ผลในบางราย อาจต้องมีการเปลี่ยนสูตรยาต้านฯ ใหม่ที่จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่า

ยาต้านไวรัส HIV มีกี่ชนิด

ปัจจุบันมียาต้านไวรัส HIV อยู่มากว่า 20 ชนิด โดยแต่ละชนิดทำหน้าที่ในการขัดขวางกระบวนการการเพิ่มจำนวนของไวรัสในแต่ละขั้นตอนแตกต่างกันไป สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ดังนี้

· กลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ เช่น AZT, DDI,d4T, 3TC, Abacavir, Tenofovir หรือ TDF
· กลุ่ม เอ็นอาร์ทีไอ เช่น Neviapine หรือ NVP, Efavirenz หรือ EFV
· กลุ่ม พีไอ เช่น ยาที่ชื่อ Saquinavir หรือ SQV, Indinavir หรือ IDV, Ritonavir หรือ RTV, Nelfinavir หรือ NFV, Lopinavir หรือ LPV, Kaletra sinv LPV/r เป็นยารวมเม็ดของ LPV+RTV

“ยาแต่ละตัวเป็นยาที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ในรายการยาเพื่อการรักษาขององค์การอนามัยโลก ไม่ใช่ยาทดลอง”

ปัจจุบันประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาต้านไวรัส HIV หลายชนิดได้เอง เช่น AZT, DDI ชนิดผง, D4T, 3TC, Nevirapine รวมถึงผลิตในรูปแบบของการนำยา 3 ชนิดมารวมในเม็ดเดียวคือ D4T, 3TC, Nevirapine รวมกันเป็น GPO-virS และ AZT, 3TC, Nevirapine รวมกันเป็น GPO-virZ โดยยาเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพการผลิต และประสิทธิภาพของยาว่าไม่ต่างจากยาต้นกำเนิดจากต่างประเทศ ที่สำคัญคือ การที่องค์การเภสัชกรรมผลิตได้เองทำให้ยามีราคาถูกลงมาก จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่จะได้รับยาต้านไวรัส HIV ในราคาที่เข้าถึงได้อย่างไม่ลำบาก และสามารถทำให้มีชีิวิตได้ยืนยาวไปอีกหลายสิบปี


บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง