ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อข้ออักเสบเฉียบพลัน


ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันมีได้หลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อุบัติเหตุจากการหกล้ม ข้อพลิก หรือเป็นโรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม การติดเชื้อโรคในข้อ และเลือดออกในข้อ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะดูแลตัวเองด้วยวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้ก่อนจะไปพบแพทย์ หรือเผลอ ๆ อาจจะหายโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ก็ได้
วิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น

·    1-2 วันแรก พักและงดใช้งาน โดยอาจสวมปลอกหุ้มข้อหรือใช้ผ้าพันรอบข้อที่มักต้องมีการเคลื่อนไหว รวมถึงประคบรอบ  ข้อด้วยผ้าเย็นนานครั้งละ 15-20 นาทีทุก 4 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกระคบอุ่นด้วยผ้าชุบน้ำร้อนในวันรุ่งขึ้น โดยประคบนานครั้งละ15 นาทีทุก 4 ชั่วโมง หากต้องการใช้ยาแก้ปวด ให้รับประทานพาราเซตามอล 1 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) 3-4 เวลาหลังอาหาร แต่หากจะใช้ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็ดเสด เช่น ไอบูโปรเฟน โวลทาเรน เซลีคอกสิบ และอาร์คอกเซีย เป็นต้น จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยที่มีโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล มีเลือดออกง่าย โรคไต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ครีมนวดแบบร้อนหรือเย็นนวดคลึงเบา ๆ รอบข้อวันละ 3-4 ครั้งแต่ห้ามใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์อย่างเด็ดขาย และสำหรับในกรณีที่ข้อเข่าอักเสบขอแนะนำให้ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขา โดยเหยียดขาออกไปและให้ด้านหลังของเข่าแตะกับพื้นมากที่สุด ค้างอยู่ในท่านั้นนานครั้งละ 5-10 วินาทีแล้วพัก ควรทำซ้ำอีกวันละหลาย ๆ ครั้ง

·    วันที่ 2-5 ถ้าอาการปวดอักเสบลดน้อยลงและไม่เกิดผลข้างเคียงก็ให้รับประทานยาเดิมต่อ แต่เพิ่มการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวข้อให้มากขึ้นทีละน้อยทุกวัน ในระยะแรกอาจใช้มือช่วยจับข้อเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวก่อน พยายามใช้ระยะเวลาในการฝึกนานครั้งละ 5-10 วินาที วันละหลายา ๆ ครั้ง ขึ้นกับอาการไม่สบายที่ข้อภายหลังฝึกและความทนทานต่อการฝึกของผู้ป่วย

·    วันที่ 6-7 พิจารณาหยุดยารับประทานเมื่อข้อหายเกือบเป็นปกติและทำการฝึกข้อเพื่อใช้งาน โดยอาจใช้เครื่องช่วยพยุงข้อก่อนในระยะแรก ก่อนที่จะปล่อยให้ข้อทำงานโดยอิสระตามปกติเมื่อหายดี

ข้ออักเสบเฉียบพลันที่ต้องรีบไปพบแพทย์

อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่เราต้องรีบไปแพทย์ในทันที หากเกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันลักษณะดังต่อไปนี้

1 .เกิดภายหลังอุบัติเหตุอย่างรุนแรง
2. อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังการดูแลรักษาเบื้องต้น
3. มีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร ซึมลง
4. มีการติดเชื้อในร่างกายร่วมอยู่ด้วย
5. เกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่นผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรือผู้ป่วยที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
6. เกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อเลือดออกได้ง่าย เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย โรคเลือด เกล็ดเลือดต่ำ มีการใช้ยาแอสไพรินหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นต้น
7. มีข้ออักเสบนานเกิน 2 สัปดาห์
8. มีข้ออักเสบเฉียบพลันเป็น ๆ หาย ๆ มาก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง