การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์


ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน)

ช่วงนี้รูปร่างของคุณแม่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยังดูไม่ออกว่าตั้งครรภ์ จะเริ่มเห็นมีพุงนิด ๆ ในช่วงท้าย ๆ ของไตรมาสแรก น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเดิม หรือบางรายอาจมีน้ำหนักลดลงเล็กน้อย เนื่องจากคุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะรู้สึกว่าอะไรก็ไม่อร่อย ดื่มน้ำยังขม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขี่เกียจ อยากนอนทั้งวัน ตอนเย็น ๆ บางรายอาจรู้สึกเหมือนมีไข้ตัวรุม ๆ ส่วนด้านอารมณ์ความรู้สึก ด้วยระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แปรปรวนได้งาย อาจสับสน เครียด และกังวลใจ มีอาการแพ้ท้อง บางครั้งเอาแต่ใจตนเอง หงุดหงิด ขี้รำคาญ ขาดความมั่นใจ บางคนอาจซึมเศร้า ร้องไห้ได้ เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่งสิ่งต่าง ๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง คุณแม่ก็อาจเริ่มรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

ไตรมาที่ 2 (4-6 เดือน)

เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของคุณแม่ได้ชัดเจนมากขึ้น หน้าท้องขยายเพิ่มขึ้นเต้านมโตขึ้น น้ำหนักตัวเริ่มเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะตามข้อพับต่าง ๆ เริ่มสังเกตเห็นเส้นดำ ๆ กลางหน้าท้อง หัวนมเริ่มมีสีคล้ำขึ้น และรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส เส้นเลือดฝอยตามผิวหนังปรากฏชัด เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย บางรายก็เริ่มมีอาการปวดหลังจากรูปทรงของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป  ในไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะมีอารมณ์ที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอื่น ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ เมื่ออาการแพ้ท้องหมดไป คุณแม่ก็มีความรู้สึกดี ๆ ต่อการตั้งครรภ์มากขึ้น ปรับตัวได้มากขึ้น อารมณ์เริ่มผ่อนคลาย ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เมื่อลูกเริ่มดิ้นก็เริ่มรับรู้ถึงการมีชีวิตของลูกในครรภ์ ความรู้สึกของความเป็นแม่ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่จึงพยายามขวนขวายหาความรู้ และตระเตรียมเครื่องใช้ต่าง ๆ สำหรับลูก

ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)

ช่วงนี้ ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณแม่อุ้ยอ้าย รู้สึกเหนื่อยง่าย ยิ่งช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัด ตึงแน่นท้อง เมื่อมดลูกโตขึ้น มีน้ำหนักมากขึ้น ก็จะกดทับทำให้เจ็บหัวหน่าว ปวดถ่วงเชิงกราน โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืน น้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขึ้นจะกดทับลงบนกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย จนบางครั้งในขณะที่ลูกดิ้นอาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดได้ ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ มดลูกมีการขยายตัวมากขึ้น ก็จะไปเบียดทางด้านบน ทำให้พื้นที่ของปอดและกระเพาะอาหารเล็กลง เมื่อปอดมีขนาดเล็กลงก็จะทำให้เหนื่อยง่าย เหมือนหายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจถี่ขึ้นมากกว่าปกติ และเมื่อกระเพาะอาหารถูกเบียดให้เล็กลง ก็จะกินอาหารได้น้อยลง รู้สึกจุกแน่นได้ง่าย น้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารก็จะล้นย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้ง่าย ทำให้รู้สึกแสบร้อนในอก การนอนหนุนหมอนสูง หรือดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอน จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้

ช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการบวมที่ข้อเท้า และนิ้วมือได้ คุณแม่บางท่านอาจจะนอนไม่สบาย เนื่องจากท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ควรนอนตะแคงกล้ายท่ากอดหมอนข้างจะช่วยให้หลับสบายขึ้น ระยะนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกเครียด และวิตกกังวลบ้าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ การเตรียมตัวคลอด การเจ็บท้องคลอดและการเลี้ยงลูกหลังคลอด ทางที่ดีควรจะไปหาหมออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณหมอตรวจครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากมีเรื่องสงสัย ก็อย่าลังเลที่จะสอบถามให้แน่ใจไม่ควรเก็บความกังวลไว้คนเดียว ที่สำคัญอย่าเสียเวลาฟังคำแนะนำจากคนที่ไม่รู้จริงเพราะแทนที่จะดีขึ้น อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้

น้ำหนักคุณแม่ที่ควรเพิ่มขั้นในแต่ละเดือน

น้ำหนักเพิ่มขึ้นที่เหมาะสม และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อคุณแม่และลูกในครรภ์น้อยที่สุด คือ ช่วงน้ำหนักระหว่าง 12-15 กิโลกรัม ซึ่งสัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงอายุครรภ์จะแตกต่างกันดังนี้

      · ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม
      · ไตรมาสที่ 2 (4-6 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 กิโลกรัม
      · ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน) เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ไหน  สัดส่วนของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 12-15 กิโลกรัม จะกระจายตามส่วนต่าง ๆ ดังนี้

      · เจ้าตัวเล็ก                                               ประมาณ 3,000 กรัม
      · รก                                                          ประมาณ 500 กรัม
      · น้ำคร่ำ                                                    ประมาณ 800 กรัม
      · มดลูก                                                     ประมาณ 900 กรัม
      · เต้านม                                                    ประมาณ 400 กรัม
      · เลือดและน้ำในร่างกายคุณแม่                  ประมาณ 1,200 กรัม
      · ไขมันและโปรตีน                                     ประมาณ 5,000 กรัม


0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง