มหัศจรรย์แห่งพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์


ปัจจุบันเราทราบกันดีแล้วว่า เด็กในครรภ์สามารถรับรู้และเรียนรู้ได้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิในครรภ์ ไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ซึ่งจะเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างพื้นฐานการพัฒนาสมองของลูกน้อย เพราะขณะที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายลูกน้อยกำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น เซลล์สมองก็จะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน หากคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองอย่างเพียงพอ ตลอดจนเรียนรู้วิธีกระตุ้นวงจรการทำงานของสมองลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายนับเป็นโอกาสทองที่คุณแม่จะสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับสมองของลูกในอนาคต

พัฒนาการของร่างกายลูกน้อยในครรภ์


เดือนที่ 1 (หลังจากปฏิสนธิ – 4 สัปดาห์)

ลูกน้อยในครรภ์อายุ 1 เดือนจะเริ่มสร้างอวัยวะต่าง ๆ แล้วคือ 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ลำตัวมีลักษณะคล้ายหางลูกอ๊อดงอ ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนหลังและไขสันหลัง ปลายสัปดาห์ที่ 3 หัวใจเริ่มเต้น สัญญาณบ่งบอกถึงการอุบัติขึ้นของอีกชีวิตหนึ่งบนโลกใบนี้ ลูกน้อยอยู่ในช่วงเริ่มสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ จึงเป็นช่วงที่ต้องเอาใจใส่ดูแลร่างกายอย่างดีที่สุด ทั้งเรื่องอาหารการกิน ยา และสารพิษต่าง ๆ

เดือนที่ 2

หัวของลูกจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองเติบโต และมีพัฒนาการมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ เริ่มมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่าง ๆ เซลล์ประสาทเริ่มเชื่อมโยงถึงกันเหมือนระบบสายไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเป็นระบบประสาทที่ซับซ้อนขึ้น อวัยวะสำคัญต่าง ๆ เริ่มสร้างจนเกือบครบ หัวใจมีโครงสร้างสมบูรณ์ ช่วงนี้คุณแม่จึงควรได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้ทันกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของทารกในครรภ์

เดือนที่ 3

อวัยวะสำคัญทั้งหมดของลูกสร้างครบสมบูรณ์หมดแล้ว มีซี่โครงและกระดูกที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน และเริ่มมีแคลเซียมมาสะสมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นกระดูกแข็งอวัยวะเพศเริ่มแยกได้ชัดเจนขึ้น เริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ลูกสามารถดินไปมาได้ตลอดเวลา แต่คุณแม่ยังไม่สามารถรู้สึกได้

เดือนที่ 4

ลูกน้อยเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ส่วนขายาวกว่าแขน โครงกระดูกหนาแน่นขึ้น มีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น เริ่มได้ยินเสียงของแม่ และเสียงหัวใจของแม่อวัยวะเพศภายนอกบ่งบอกเพศได้ชัดเจนขึ้น ในเดือนนี้จำนวนของเซลล์ประสาทจะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนของผู้ใหญ่ และมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกสามารถขยับแขนขาเคลื่อนไหวได้

เดือนที่ 5

ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะช้าลงกว่าช่วงแรก ๆ อวัยวะต่าง  พัฒนาสมบูรณ์ขึ้น ระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์จนสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่าง  ๆ ได้ดี สามารถดิ้น ยืดตัว พลิกตัวได้ขึ้น สามารถรับรู้ถึงแรงกระทกหน้าท้องของแม่ สามารถเคลื่อนไหวหนีได้ สามารถรับรู้รส แยกรสหวานและขมได้ เริ่มฟันน้ำนมเกิดขึ้นภายในเหงือก รวมทั้งมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

เดือนที่ 6

ลูกแข็งแรงมากขึ้น ตัวยาวขึ้น เริ่มได้สัดส่วนกับหัวมากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น แขนขามีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ ความยาวของขาได้สัดส่วนกับลำตัว เซลล์สมองทำหน้าที่จดจำ เริ่มทำหน้าที่ ทำให้ลูกมีความสามารถในการจดจำ และเรียนรู้ได้แล้ว ลูกจึงสมารถจดจำเสียงของพ่อและเสียงของแม่ที่พูดกับเขาบ่อย ๆ ได้

เดือนที่ 7

ระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สมองจะโตขึ้นจนเมภายในกะโหลกศีรษะและมีร่องบนเนื้อสมองเพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทจะประสานกันอย่างสมบูรณ์ตื่นตัวเต็มที่ ลูกสื่อความต้องการและความรู้สึกตอบโต้แม่ได้ด้วยการดิ้น และเตะ ลูกจะเตะและดิ้นแรงหากมีเสียงดัง หรือเวลาหิว และสามารถเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงดนตรี

เดือนที่ 8

สัดส่วนของร่างกายของลูกเท่ากับเด็กคลอดครบกำหนดแล้ว เพียงแต่ยังมีขนาดตัวเล็กอยู่ โดยทารกมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1,600-2,000 กรัม อวัยวะต่าง ๆ ของลูกสมบูรณ์เกือบหมดยกเว้นปอดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทประสานกันอย่างสมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น สามารถเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ครรภ์ได้อย่างคล่องแคล่ว ลูกเริ่มพัฒนาความสามารถในการมองเห็น รูม่านตาสามารถขยายและหรี่ได้ สามารถกระพริบตาได้ เพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ในถุงน้ำคร่ำได้ สามารถปรับภาพให้คมชัดในระยะใกล้ ๆ มีการฝึกกลืนและดูด ในกรณีที่เป็นเด็กผู้ชายลูกอัณฑะจะลงไปที่ถุงอัณฑะแล้ว

เดือนที่ 9

ลูกในครรภ์โตขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้แม่มีความรู้สึกถ่วงในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ยิ่งช่วงท้าย ๆ ใกล้คลอด ลูกเริ่มกลับเอาหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ก็ยิ่งทำให้มีอาการปวดถ่วงมากขึ้นอีก เดือนสุดท้ายนี้ลูกจะมีไขมันใต้ผิวหนังสะสมมากขึ้น จนอ้วนเต็มพื้นที่ในมดลูก เวลาดิ้นจึงรู้สึกเหมือนลูกโก่งตัว บางทีทำให้แม่รู้สึกเจ็บได้ ปอดเกือบสมบูรณ์เต็มที่ มีการเคลื่อนไหวของทรวงอก เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจ ในระหว่างที่อยู่ในครรภ์นี้ ระบบภูมิต้านทานโรคของลูกยังไม่สามารถทำงานได้ ต้องอาศัยภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางรกไปก่อน แต่หลังคลอดภูมิต้านทานจากแม่ก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานสำหรับโรคบางอย่างทันที่ที่ลูกคลอดออกมา

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง