ลดความอ้วนอย่างไรไม่เกิดอันตราย

ลดความอ้วนอย่างไรไม่เกิดอันตราย

            โรคอ้วนเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งวิถีชีวิตมีส่วนส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น ขาดการออกกำลังกาย (รวม ทั้งการใช้เครื่องผ่อนแรงมากขึ้น) การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป และเมื่อมีอายุมากขึ้นกลับมีงานสังคมที่ต้องออกไปสังสรรค์และลงท้ายด้วยการรับประทานอยู่บ่อย ๆ โดยทั่วไปคนเราจะอ้วนเมื่อมีอายุมากขึ้น หรือเมื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนของความอ้วนที่เห็นได้ชัดเจนก็คือพุง ขณะเดียวกันจำนวนของเด็กที่เป็นโรคอ้วนก็เพิ่มมากขึ้น
 
            คนอ้วนหรือคนที่ชอบรับประทานอาหารประเภทของมันของทอด หรือของหวานมาก  ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคหัวใจและโรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
 
            เมื่อรู้ตัวว่าอ้วน หลายคนพยายามลดน้ำหนักด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สามารถบังคับปากและใจตัวเองได้ หรือบางคนก็ควบคุมอาหารได้ แต่น้ำหนักกลับไม่ลดลงไปเท่าที่ควร หรือลดไปได้ระยะหนึ่งก็หยุด น้ำหนักไม่ลดลงอีก เนื่องจากการปรับตัวของร่างกาย บางคนหันไปพึ่งยาลดน้ำหนัก ซึ่งจะได้ผลเร็วในระยะแรก แต่จะมีผลข้างเคียงหลายประการ เช่น หน้ามืด ใจสั่น ความดันโลหิตสูง และลดไปได้ระยะเดียวก็จะดื้อยา ไม่สามารถลดต่อไปได้ต้องเลิก และเมื่อเลิกแล้วน้ำหนักจะกลับเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีก เนื่องจากยาลดความอ้วนที่ใช้กันส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและ ประสาท ยาควบคุมพิเศษ และยาอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยการไปลดความอยากอาหาร เป็นยาที่มีผลทำให้เกิดการเบื่ออาหาร หรือ เรียกว่า Anorectic Drugs มีอนุพันธ์ของยาแอมเฟตามีน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ยาบ้าการใช้ยาลดความอ้วนต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ ต่าง ๆ ได้เช่น
           1. พิษ จากการใช้ยา เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด ผู้ใช้จะมีอาการตื่นเต้นสับสน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ มีอาการทางจิต ได้ยินเสียงหรือภาพหลอน ในรายที่รุนแรงพบว่าจะมีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก และอาจตายได้
           2. ความทนต่อยา  ยาลดความอ้วนหลายตัวเมื่อใช้ไป 6-12 สัปดาห์ ร่างกายจะทนต่อยาเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า ดื้อยา
           3. การ ติดยา เมื่อผู้ใช้ยาเป็นประจำจะทำให้เกิดการเสพย์ติด ซึ่งหากหยุดทันที จะเกิดอาการทางจิตที่เห็นได้ชัดคือ จะรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น และมีอาการซึมเศร้า

นอกจากนี้ยังมียากลุ่มอื่นๆ ที่มีการนำมาใช้ลดความอ้วน เช่น
           - ยาเพิ่มกากในลำไส้ (ไฟเบอร์) ยาพวกนี้จะพองตัวในท้อง ทำให้รู้สึกอิ่มแค่ชั่วคราว แต่ถ้าใช้ปริมาณมากๆ อาจทำให้ลำไส้อุดตัน
           - ยาระบายหรือยาถ่าย การใช้ในขนาดสูง ทำให้ท้องเดินและขาดน้ำเป็นผลให้น้ำหนักลดในช่วงที่ใช้ยา แต่หากใช้ไปนาน ๆ จะเป็นอันตรายต่อร่างกายเพราะร่างกายขาดสารอาหาร ขาดแร่ธาตุที่จำเป็น และขาดน้ำอย่างรุนแรง และยังมีวิธีการอื่นอีกที่มักนำมาใช้ลดความอ้วนก็คือ การฝังเข็ม ซึ่งในวงการแพทย์ยังไม่มีการยืนยันว่า การฝังเข็มจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ วิธีการฝังเข็มเพื่อลดน้ำหนัก จะทำให้น้ำหนักลดลงได้บ้าง แต่หลังจากนั้นก็จะกลับไปอ้วนอีก และอ้วนมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 
           จะเห็นได้ว่ายาที่ใช้ลดความอ้วนเหล่านี้ ล้วนมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ไม่ควรเสี่ยงนำมาใช้ แต่ถ้าอยากลดความอ้วนอย่างปลอดภัยแนะนำให้ใช้วิธีการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ซึ่งการควบคุมอาหารนี้ไม่ได้หมายถึงการอดอาหาร แต่เป็นการควบคุมให้ปริมาณแคลอรีที่รับเข้าไปสมดุลกับที่ถูกนำไปใช้ โดยลดอาหารที่เกินความต้องการประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันลง ฝึกการกินให้เป็นเวลา วันละ 3 มื้อ และไม่กินพร่ำเพรื่อระหว่างมื้อ


[การลดความอ้วน]

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง