หัวใจ คุณรู้จักหัวใจตัวเองมากแค่ไหน มารู้จักหัวใจกันดีกว่า

 หัวใจเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง มีขนาดเท่ากำปั้น อยู่ในทรวงอกค่อนไปทางด้านซ้าย จัดเป็นอวัยวะที่มีความมหัศจรรย์มาก ประกอบไปด้วยกลุ่มเซลที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา เมื่อหัวใจเริ่มเต้นแล้ว ก็จะเต้นตลอดไป ไม่มีวันหยุดตราบเท่าที่ยังมีชีวิต หัวใจไม่เคยมีวันพัก จึงเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงมาก

ห้องหัวใจ
  1. หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตให้ไหลเวียนไปตามหลอดเลือด โดยจะนำออกซิเจนและสารอาหารไปให้ส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายและรับเอาของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์กลับมา
  2. ขนาดของหัวใจ หัวใจของผู้ใหญ่ มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 8-9 เซนติเมตรในบริเวณที่กว้างสุด และมีความหนาประมาณ 6 เซนติเมตร
  3. น้ำหนักของหัวใจ ในผู้ชายมีน้ำหนักประมาณ 280-340 กรัม ในผู้หญิงมีน้ำหนักประมาณ 230-280 กรัม
  4. หัวใจจะมีการขยายขนาดและน้ำหนักมากขี้นตามอายุ โดยในผู้ชายจะมีการขยายขนาดมากกว่าในผู้หญิง
  5. ปกติหัวใจจะมี 4 ห้อง แบ่งเป็น 2 ซีก ได้แก่ ซีกซ้ายและซีกขวา หัวใจทั้งสองซีกไม่มีช่องติดต่อถึงกัน นอกจากในระยะทารกในครรภ์ หัวใจแต่ละซีกจะมี 2 ห้องเท่ากันคือ ห้องบนและห้องล่าง ห้องบนและห้องล่างจะมีช่องติดต่อถึงกัน โดยมีลิ้นหัวใจคอยทำหน้าที่กำกับให้กระแสเลือดผ่านจากห้องบนสู่ห้องล่างได้ ทิศทางเดียวเท่านั้น ย้อนกลับไม่ได้
  6. หัวใจห้องบนขวารับเลือดดำ จากหลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดกลับจากอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งเลือดดำจากตัวหัวใจเองด้วย เลือดดำจากห้องบนขวาจะถูกส่งลงมาห้องล่างขวา และส่งต่อไปยังปอดทั้งสองข้าง เพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในเลือดดำกับออกซิเจนจากอากาศ ที่หายใจเข้าไปสู่ปอด เลือดที่ผ่านปอดแล้วจะเป็นเลือดที่มีออกซิเจนสูง จึงมีสีแดงเรียกว่า เลือดแดง เลือดแดงจะไหลกลับสู่หัวใจทางห้องบนซ้าย ลงสู่ห้องล่างซ้ายและส่งต่อออกไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งตัวหัวใจเองด้วย โดยผ่านทางหลอดเลือดหัวใจ 3 แขนงใหญ่
เยื่อหุ้มหัวใจ
  1. เยื่อหุ้มหัวใจ เป็นเยื่อบางๆ ใสๆ ห่อหุ้มหัวใจไว้ เป็นสาเหตุของโรคบางชนิด เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ติดเชื้อ มะเร็งแพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น ในกรณีที่เป็นโรค อาจทำการผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจทิ้งได้
  2. ลักษณะเป็นถุงรูปโคน ซึ่งมีหัวใจและส่วนต้นของเส้นเลือดแดงที่ออกจากหัวใจอยู่ภายในถุง
  3. เยื่อหุ้มหัวใจ ประกอบด้วยผนัง 2 ชั้น คือ ผนังด้านนอก และผนังด้านในซึ่งหุ้มรอบหัวใจอยู่ ระหว่างผนัง 2 ชั้นเป็นช่องของเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้วช่องนี้จะแฟบปิด แต่ในภาวะที่มีโรคที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ อาจจะทำให้มีน้ำสะสมอยู่ในช่องดังกล่าว ซึ่งถ้ามีปริมาณมาก จะไปกดการคลายตัวของหัวใจโดยตรง 
    กล้ามเนื้อหัวใจ
  1. กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการบีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และขยายตัวเพื่อรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ จึงเป็นส่วนที่มี ความสำคัญอย่างมาก หากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวหรือคลายตัวผิดปกติแล้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ซึ่งส่วนมากอาจไม่สามารถแก้ไขให้กลับเป็นปกติได้
  2. การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจต้องอาศัยพลังงานที่ได้จากสารอาหารที่ถูกนำมาโดย หลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นโรคของหลอดเลือดหัวใจจึงมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
  3. ขณะนี้ได้มีการทดลองเพิ่มจำนวนสารวีอีจีเอฟ
  4. vascular endothelial growth factor (VEGF) ซึ่ง เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่สร้างเส้นเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ ให้แก่กล้ามเนื้อหัวใจของหนูทดลอง พบว่าการทดลองประสบผลสำเร็จมาก โดยสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ จนสามารถป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้


ลิ้นหัวใจ และผนังกั้นห้องหัวใจ
หัวใจ คนเรามี 4 ห้องแบ่งซ้าย-ขวาโดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งห้องบน-ล่างโดยลิ้นหัวใจ เลือดระหว่างห้องซ้าย-ขวาจึงไม่ปะปนกัน ในบางครั้งการสร้างผนังกันห้องหัวใจไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นรูโหว่ขึ้นได้ เป็นชนิดหนึ่งของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจทำหน้าที่ให้เลือดไหลผ่านและไม่ไหลย้อนกลับ ดังนั้นหากลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ตีบ ฉีกขาด ปิดไม่สนิทหรือรั่ว ก็ย่อมทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้น โรคลิ้นหัวใจที่เป็นปัญหามากที่สุดคือลิ้นหัวใจพิการรูมาห์ติค ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อคออักเสบ
ระบบไฟฟ้าหัวใจ

  1. การ ที่หัวใจสามารถเต้นได้นั้น เนื่องจากหัวใจส่งกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเอง จากหัวใจห้องขวาบนมายังหัวใจห้อง ซ้ายบนและห้องล่าง เมื่อไฟฟ้าผ่านไปจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัวไล่เลือด เลือดจึงไหลอย่างมีระเบียบ
  2. หากระบบไฟฟ้าผิดปกติไป ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะชักนำให้เกิดการเต้นที่ผิดจังหวะ ผิดปกติ ซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก จนทำให้เสียชีวิต การเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ หรือมีอัตราการเต้นที่ผิดปกติ นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรำคาญแล้ว ในบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  3. การรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นผิด จังหวะ ปัจจุบันสามารถให้การรักษาได้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการให้ยา การจี้รักษาภาวะลัดวงจรของการนำไฟฟ้าในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุ การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร และการผ่าตัดฝังเครื่องช็อคหัวใจแบบอัตโนมัติ
  4. การ จี้รักษาภาวะลัดวงจรของการนำไฟฟ้าในหัวใจด้วยคลื่นวิทยุ เป็นการรักษาหัวใจที่เต้นผิดจังหวะและเร็วผิดปกติให้เต้นช้าลง วิธีการจะคล้ายกับการสวนหัวใจแต่จะมีสายลวดเล็ก ๆ ใส่ผ่านไปทางหลอดเลือดดำเข้าไปที่หัวใจร่วมด้วย ซึ่งสายลวดนี้จะสามารถตรวจหาตำแหน่งของเนื้อเยื่อหัวใจที่ผิดปกติ และสามารถส่งคลื่นวิทยุเข้าไปเพื่อจี้ให้เนื้อเยื่อหัวใจ บริเวณนั้นตายแล้วมีแผลเป็นเล็กๆ เกิดขึ้นแทน
  5. การผ่าตัดฝังเครื่อง กระตุ้นหัวใจชนิดถาวร เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวรมีขนาดใกล้เคียงกับวิทยุติดตามตัว เครื่องนี้จะถูกฝังไว้ที่ผนังทรวงอกของผู้ป่วย จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติหรือมีการปิดกั้นการนำไฟฟ้า ในหัวใจ
  6. การผ่าตัดฝังเครื่องช็อคหัวใจแบบอัตโนมัติ เครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติมีลักษณะคล้ายเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิด ถาวร แต่มีที่ใช้ต่างกัน คือ เครื่องช็อคไฟฟ้าจะใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจหยุดเต้นฉับ พลันจากที่หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ
การทำงานของหัวใจหัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กล้ามเนื้อหัวใจมีลักษณะพิเศษกว่ากล้ามเนื้ออื่นๆ คือ สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เอง ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเริ่มต้นจากหัวใจห้องขวาบน เรียกว่าsinus node โดยมีอัตราการปล่อยไฟฟ้าประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที และถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนหลายชนิด 

ไฟฟ้าที่ออกมาจะกระจายออกไปตามเซลนำไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในหัวใจ เริ่มจากขวาไปซ้าย จากห้องบนขวาไปห้องบนซ้าย และลงล่างด้วย เมื่อเซลกล้ามเนื้อหัวใจถูกกระแสไฟฟ้านี้ ก็จะเกิดการหดตัวขึ้น ทำให้เกิดการบีบตัวของห้องหัวใจ การบีบตัวของห้องหัวใจเริ่มจากด้านขวามาซ้าย และห้องบนก่อนห้องล่าง

วงจรการไหลเวียนของเลือดจะเริ่มจากหัวใจห้องขวาบนรับเลือดดำจากส่วนต่างๆของร่าง กาย เช่น แขน ขา เลือดส่วนนี้จะไหลผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด ไปยังหัวใจห้องขวาล่าง ซึ่งจะบีบตัวตามมาไล่เลือดออกไปฟอกที่ปอดโดยผ่านหลอดเลือดไปปอด เลือดจะถูกฟอกที่ปอดโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนก๊าซผ่านทางหลอดเลือดเล็กๆที่ผนัง ถุงลมของปอด จากนั้นเลือดจะไหลมารวมกันที่หลอดเลือดใหญ่เพื่อไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีก ครั้งที่ห้องซ้ายบน เลือดไหลจากห้องซ้ายบนลงมาซ้ายล่างโดยผ่านลิ้นหัวใจไมตรัล เมื่อเลือดแดงอยู่ในห้องหัวใจซ้ายล่างแล้วก็พร้อมที่จะถูกฉีดออกไปเลี้ยง ร่างกายทางหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา ผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติค เมื่อผ่านส่วนต่างๆแล้ว เลือดจะกลับสู่หัวใจด้านขวาอีกครั้ง
ระบบ ไฟฟ้าหัวใจมีประสิทธิภาพมากในการควบคุมวงจรการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้แต่ละห้องหัวใจสัมพันธ์กัน ดังนั้น ไม่ว่าระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัว ย่อมมีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น

หลอดเลือดหัวใจ

  1. หลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีชื่อเรียกเรียกว่า

  1. "หลอดเลือดโคโรนารี" ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 เส้นใหญ่ โดยออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาทางด้านขวาและด้านซ้าย จึงเรียกชื่อว่าหลอดเลือดโคนารีขวาและหลอดเลือดโคโรนารีซ้ายตามลำดับ
  2. หลอดเลือดโคโรนารีซ้าย แบ่งเป็นแขนงใหญ่ ๆ อีกสองแขนง แขนงแรกทอดตรงไปเลี้ยงหัวใจด้านหน้าและห้องซ้ายล่าง และอีกแขนงหนึ่งจะวิ่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านหลังและด้านล่าง ส่วนหลอดเลือดโคนารีขวา จะเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจด้านขวาและด้านล่าง
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น โรคที่เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อเกิดโรคนี้ ลักษณะเฉพาะคือ ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น แข็ง ขรุขระ และตีบแคบ ทำให้เลือดผ่านได้น้อยลง เมื่อเลือดไหลผ่านได้น้อย จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ปลายทางได้รับเลือดไม่พอ ก็จะเกิดอาการจุกแน่นหน้าอก โดยอาการเป็นมากขึ้น เมื่อออกกำลังหรือทำงานหนัก
  4. ในกรณีที่ตะกรันบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจที่หนาตัวจนเกิดอาการปริ-กะเทาะ จะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมารวมตัวกัน และทำให้เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันจากลิ่มเลือด ถ้าไม่มีการแก้ไขให้เลือดไหลผ่านได้อย่างเพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดก็จะเกิดบาดเจ็บเสียหาย จนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นหย่อมๆ เรียกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  5. กล้ามเนื้อที่ตายมักจะกระตุ้นให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะ ทำ ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ได้จากการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ กรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างและจำนวนมาก ก็ทำให้หน้าที่ของหัวใจในการสูบฉีดเลือดล้มเหลว จึงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง