หากจะเปรียบสารอาหารพวก โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงของรถแล้ว วิตามินก็เปรียบได้เป็นน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องยนต์ ที่ถึงแม้จะมีความต้องการเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ วิตามินทำหน้าที่เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ หากไม่มีวิตามินถึงแม้ว่าร่างกายจะได้สารอาหารชนิดอื่นเข้าไปมากเพียงใดก็ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
วิตามินจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- ชนิดละลายในไขมัน( fat soluble vitamins ) ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
- วิตามินที่ละลายในน้ำ ( water soluble vitamins ) ในกลุ่มวิตามินบี และวิตามินซี
หน้าที่ของวิตามิน
- วิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น รักษาการคงสภาพของเยื่อบุผิว
- วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม
- วิตามินอี ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ
- วิตามินเค ช่วยในเรื่องการแข็งตัวของเลือด
- กลุ่มวิตามินบี ช่วยในการนำสารอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนไปใช้
- วิตามินซี ช่วยในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผิว
ข้อควรระวังของวิตามิน
วิตามิน ที่ละลายในไขมันสามารถสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ถ้าได้รับติดต่อกันเป็น ระยะเวลานาน อย่างไรก็ดี ประชากรส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาการขาดวิตามินชนิดนี้ยกเว้นในบางท้องที่ วิตามินที่มักจะมีปัญหาในการขาด คือ กลุ่มวิตามินบี เพราะไม่มีการเก็บสะสมในร่างกาย หรือเก็บสะสมในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเมื่อเกิดการขาดวิตามินกลุ่มนี้ ร่างกายจะแสดงออกอย่างรวดเร็ว เช่นอาการทางระบบประสาท ท้องเสีย ชาปลายมือปลายเท้าเยื่อบุมุมปากอักเสบ การขาดวิตามินบางอย่างอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจวายจากการขาดวิตามินบีหนึ่ง
ปัจจุบัน ด้วยกระแสของข้อมูลข่าวสาร ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลด้านสุขภาพมากขึ้นกับการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ ทำให้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้นนับตั้งแต่เรื่องรับประทาน อาหาร การออกกำลังกาย และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งวิตามินก็เป็นจุกสำคัญที่ประชาชนให้ความสำคัญ ทำให้มีโฆษณาช่วนเชื่อเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินในด้านต่างๆ นอกเหนือจากหน้าที่ตามปกติของวิตามิน เช่นสรรพคุณชะลอความแก่ ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วนั้น การรับประทานวิตามินบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายนอกเหนือจากความสิ้นเปลือง
ดัง นั้น การรับประทานวิตามินเพิ่มนอกเหนือจากวิตามินที่ได้จากอาหารแล้ว ควรจะพิจารณาตามความจำเป็น ความสำคัญ และงบประมาณในกระเป๋าของตนเองด้วย ส่วนใหญ่การโปรโมทผลิตภัณฑ์วิตามินจะเน้นไปที่กลุ่มคนวัยทำงาน ให้ได้รับวิตามินบีให้เพียงพอ เพราะเชื่อว่าจะช่วยในเรื่องระบบประสาท และต่อสู้กับความเครียดได้ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าแน่ใจว่ารับประทานอาหารได้สัดส่วน หลีกเลี่ยงยาเสพติด สารกระตุ้นประสาท การทำงานของสมองก็ย่อมเป็นปกติแน่นอน การเสริมวิตามินจะทำในกรณีที่มีข้อบ่งจำเพาะ เช่นการขาดสารอาหาร ภาวะความเป็นพิษบางอย่าง ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งผู้ที่มีปัญหารด้านการดูดซึมสารอาหารผู้ที่มีบาดแผล
เลือกซื้อวิตามินิย่างไรให้ปลอดภัย
1.ฉลากจะต้องระบุชื่อยี่ห้อ ส่วนประกอบสำคัญ ส่วนผสมอื่นๆ อย่างชัดเจนและมีปริมาณที่แน่นอน(อาจรวมถึงฉลากข้อมูลทางโภชนาการ)
2.ได้รับรองขึ้นจดทะเบียนตำหรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3.มีที่อยู่ของผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายชัดเจน
4.มีวันผลิต วันหมดอายุ และวิธีการเก็บรักษา
ใน ท้องตลาดทั่วไปจะมีวิตามินอยู่หลายสูตร บางสูตรมีวิตามินไม่กี่ชนิดแต่มีปริมาณต่อเม็ดสูง (มักนำมาใช้ในการรักษาโรค) บางชนิดมีวิตามินหลายชนิดในปริมาณน้อยใกล้เคียงกับความต้องการในแต่ละวันของ ร่างกาย วิตามินบางชนิดผสมมากับแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม การซื้อต้องสังเกตหรือสอบถามให้ละเอียด เพราะมีผู้ป่วยบางโรคที่รับประทานแร่ธาตุบางอย่างไม่ได้ เช่นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไม่ควรรับประทานวิตามินที่มีธาตุเหล็ก
วิธีรับประทาน
ควรรับประทานหลังอาหาร เพื่อให้ค่อยๆเกิดการดูดซึมไปพร้อมกับอาหาร
จะ เห็นว่าแม้แต่เรื่องวิตามิน ก็มีแง่มุมที่สำคัญและน่าสนใจ การใส่ใจในเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรใส่ใจอย่างรู้เท่าทันและให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับตนเองให้มากที่สุด
บทความโดย: ภก. ธนกร ศิริสมุทร
ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น