โรคภูมิแพ้ (ตอนที่ 3)

           2.  การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทานยาพ่นจมูก, ยาทาผิวหนัง, ยาสูด หรือพ่นคอ, ยาหยอดตา  ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก  เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่างๆได้ 100%  อย่างไรก็ตาม ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ  เมื่อสามารถดูแลตนเอง และควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ    ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ควรซื้อยามาใช้เอง     ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งให้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิด หรือขนาดของยา แล้วแต่การตอบสนองต่อการรักษา  จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการใช้ยาสูงสุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
 
           ในกรณีที่ผู้ป่วยจะเดินทาง ควรเตรียมยาชนิดต่างๆที่รักษาอาการโรคภูมิแพ้ของตนให้พร้อม เช่น ยาแก้แพ้, ยาแก้อาการคัดจมูก, ยารักษาไข้หวัด, ยาขยายหลอดลม, ยาทาผิวหนังอักเสบ, โลชั่นปรับผิว ลดการระคายเคืองและโลชั่นบำรุงผิวป้องกันผิวแห้ง  ในกรณีที่มีอาการกำเริบจะได้มียาไว้ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการ   ผู้มีอาการมากหรือมีอาการเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมอาการให้ดีก่อนเดินทาง 1-2 สัปดาห์ และระหว่างเดินทางก็ควรใช้ยาให้ต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ และควรมีบันทึกของแพทย์ติดตัวอยู่ตลอดว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใด มีอาการอะไรบ้าง ในกรณีฉุกเฉินเกิดอาการแพ้ขึ้น จะให้การรักษาอย่างไร

           3.  การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy)  เป็นการรักษา โดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย  แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน  เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้   วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้  หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย     วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง     ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี

           4. การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น  หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด   เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ    ริดสีดวงจมูก    ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา

           โดยสรุป…..  โรคภูมิแพ้นั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้   สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยปราศจากโรคแทรกซ้อน  ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว  จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย

บทความโดย รศ. นพ. ปารยะ   อาศนะเสน
 

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง