ตั้งครรภ์ ….ความคาดหวังกับความจริง

            เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ร้อยทั้งร้อยมีสิ่งที่คาดหวังเหมือนกันหมดก็คือ ลูกที่คลอดออกมาต้องสมบูรณ์แข็งแรง ถ้าโตขึ้นเฉลียวฉลาดด้วยก็จะยิ่งดี ส่วนตัวคุณแม่เองก็ต้องปลอดภัยจากการคลอดด้วย ความคาดหวังเหล่านี้ส่วนมากเป็นได้จริง แต่ก็มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่การตั้งครรภ์และการคลอดจบลงแบบที่ไม่ต้องการ

ความจริง
            ลองมาดูตัวอย่างคุณแม่เหล่านี้ดูครับ ชื่อเสียงเรียงนามของคุณแม่ผมสมมติขึ้นทั้งนั้น แต่เหตุการณ์แบบนี้มีจริงแท้แน่นอน
            - คุณติ๋ม อายุ 28 ปี ตั้งครรภ์แรก ไปฝากครรภ์กับคุณหมอทุกครั้งตามนัด คุณหมอก็บอกว่าปกติดี วันหนึ่งขณะตั้งครรภ์ได้ประมาณ 8 เดือน รู้สึกลูกไม่ดิ้น ไปตรวจกับคุณหมอพบว่าลูกเสียชีวิตแล้ว หลังให้ยากระตุ้นให้คลอดออกมาพบว่าลูกมีสายสะดือรัดคอจนแน่น ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงจนตายในครรภ์
            - คุณตอง อายุ 30 ปี ตั้งครรภ์ที่ 2 ฝากท้องกับคุณหมอตามนัดทุกครั้ง คุณหมอก็บอกว่าปกติดี จนเมื่อตั้งครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ ปวดท้องไปโรงพยาบาล คุณหมอพบว่าใกล้คลอดจึงรับไว้ในโรงพยาบาล ขณะกำลังเบ่งคลอด คุณตองหายใจไม่ออก ตัวเขียวและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น คุณหมอให้การวินิจฉัยว่าน้ำคร่ำเข้ากระแสเลือด ไปทำให้ระบบการหายใจทำงานไม่ได้
            - คุณต๋อย อายุ 32 ปี ตั้งครรภ์แรก ไปฝากครรภ์กับคุณหมอตรงนัดบ้างไม่ตรงนัดบ้าง เพราะงานยุ่ง จนวันหนึ่งขณะตั้งครรภ์ประมาณ 9 เดือน รู้สึกมีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอดโดยที่ไม่เจ็บครรภ์เลย เนื่องจากงานยังยุ่งมาก และคิดว่าไม่เป็นไร กว่าจะไปพบคุณหมอก็เมื่อน้ำเดินอยู่เกือบ 3 วัน ที่ไปพบคุณหมอก็เพราะรู้สึกมีไข้  คุณ หมอตรวจแล้ว พบว่ามีการติดเชื้อในมดลูกจากน้ำเดินนาน ต้องรีบให้ยาเร่งลูกคลอดออกมา หลังคลอด ลูกต้องได้รับการดูแลที่หอผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแส เลือดในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา
            - คุณติ๋ว อายุ 35 ปี ตั้งครรภ์แรก  ขณะ ฝากครรภ์ทุกครั้งคุณหมอก็บอกว่าตั้งครรภ์ปกติดี จนถึงวันคลอด คุณติ๋วก็คลอดลูกปกติ แต่หลังคลอดเลือดไหลไม่หยุด คุณหมอตรวจพบว่ามดลูกบีบตัวไม่แรงพอ ได้ให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกหลายชนิดก็ไม่ดีขึ้น ลงท้ายต้องนำคุณติ๋วไปมดลูกทิ้ง เพื่อไม่ให้เสียเลือดต่อไปเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
            - คุณแตง อายุ 25 ปี ตั้งครรภ์แรก ขณะตั้งครรภ์คุณหมอที่ดูแลบอกว่าการตั้งครรภ์ปกติดี แต่รู้สึกเด็กจะตัวโตกว่าเกณฑ์เล็กน้อย  เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 9 เดือน เศษซึ่งถือว่าครบกำหนด คุณแดงก็เจ็บครรภ์คลอด คุณหมอตรวจแล้วเห็นว่าน่าจะคลอดทางช่องคลอดได้ จึงรับไว้ในห้องคลอด ภายหลังรับไว้ประมาณ 5 ชั่วโมงคุณแดงก็อยากเบ่งคลอด ซึ่งคุณหมอก็คอยดูแลอยู่ แต่หลังจากปล่อยให้เบ่งคลอดเกือบ 2 ชั่วโมง คุณแดงก็ยังไม่คลอด คุณหมอที่ดูแลจึงตัดสินใจช่วยคลอดโดยใช้เครื่องดูดจับที่ศีรษะเด็กแล้วดึงเด็กออกมา ซึ่งพบว่าดึงยากมาก  เพราะเด็กค่อนข้างใหญ่ หลังคลอด เด็กมีเลือดออกใต้กะโหลกศีรษะต้องรักษานานประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนคุณแตงมีการเสียเลือดหลังคลอดมากต้องให้เลือด แต่ก็ปลอดภัยดี

ทำไมท้องไม่สมหวัง
            ตัวอย่าง ที่ยกให้เห็นข้างต้น คงจะพอบอกคุณแม่ได้บ้างว่าการตั้งครรภ์และการคลอดไม่ใช่เรื่องง่ายหรือ เรื่องยากไปเสียทั้งหมด และหลายคนการคลอดลงเอยในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้น เสียชีวิต  ผมอยากสรุปสาเหตุของการตั้งครรภ์และคลอดที่ไม่สมหวังออกง่ายๆ ดังนี้ครับ
             
อุบัติเหตุ
            อุบัติเหตุ บางอย่างเช่นการขับรถยนต์อาจป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท ไม่ดื่มสุรา แต่ก็ไม่มีทางที่จะประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ  เช่นเดียวกับการตั้งครรภ์ต่อให้คุณหมอดูแลให้ดีอย่างไรบางครั้งก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้นได้ เช่นในบรรดาคุณแม่ที่ยกตัวอย่างข้างต้น
            ในรายของคุณติ๋มที่ลูกเสียชีวิตในครรภ์เพราะสายสะดือพันคอนั้น  ผม อยากเรียนให้ทราบว่าสายสะดือซึ่งทำหน้าที่นำอาหารไปเลี้ยงลูกโดยออกมาจากรก และไปเข้าตัวเด็กตรงสะดือนั้น มันมีความยาวพอสมควร และลูกที่อยู่ในครรภ์ก็ไม่ใช่ว่าจะนอนอยู่เฉยๆ แต่ดิ้นอยู่ตลอดเวลา บางครั้งดิ้นจนเผอิญมีสายสะดือมาพันที่คอ ถ้าพันหลวมๆก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่บางรายพันแน่นมากเช่นรายของคุณติ๋ม เลือดในสายสะดือจึงไหลเวียนไปเลี้ยงลูกไม่ได้ กรณีแบบนี้ไม่มีใครป้องกันได้หรอกครับ ตรวจอัลตราซาวนด์ทุกวันก็ป้องกันไม่ได้  ที่ทำได้ อย่างเดียวก็คือทำใจว่ามันอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับเราได้ แต่ขอเรียนว่ามันไม่ได้เกิดบ่อยหรอกครับนานๆถึงจะเจอซักคน ดังนั้นถ้ามัวแต่กังวลเรื่องนี้ สงสัยจะเป็นโรคประสาทเสียตั้งแต่ก่อนคลอด
            ใน รายของคุณตองก็เช่นเดียวกัน การที่น้ำคร่ำจะไหลเข้าไปในกระแสเลือดแม่จนทำให้เสียชีวิต ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ คาดการณ์ไม่ได้ เช่นกัน จะป้องกันได้มิอย่างเดียวก็คืออย่าตั้งครรภ์ และเช่นเดียวกันครับ โรคนี้เจอน้อยมากๆๆ  แต่เวลาเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ทุกที คุณหมอที่ทำคลอดก็กลัวกันทุกคนครับ จนหลายคนอยากจะเลิกทำคลอดก็มี
 
ปัญหาจากตัวคุณแม่
            คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งมีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวบางอย่างที่อาจทำให้การตั้งครรภ์จบลงอย่างไม่สมหวังแม้คุณหมอจะดูแลดีอย่างไรก็ตาม  เช่น คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น คุณแม่บางรายไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดเรื่อง เช่นรายของคุณ ติ๋วที่ตกเลือดหลังคลอดจนต้องตัดมดลูกทิ้งก็บอกสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่า ทำไมมดลูกจึงไม่ค่อยยอมบีบตัวให้ดี จริงๆ มันคงมีสาเหตุแต่วงการแพทย์เรายังสรุปแน่ชัดไม่ได้  ปัญหา ของคุณแม่บางอย่างก็เกิดจากความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ หรือความใส่ใจของคุณแม่เอง รายของคุณต๋อยเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่ใส่ใจถึงอาการที่อาจเป็นอันตรายจาก การตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะจากไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่คิดว่ามันจะสำคัญก็เป็นได้

ปัญหาจากแพทย์
            ในการดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์และคลอด ส่วนมากคุณหมอสามารถตัดสินใจให้การดูแลรักษาได้ไม่ยากนักเพราะส่วนมากก็จะคล้ายๆกัน   แต่บางครั้งในคุณแม่บางคน คุณหมอก็จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเหมือนกันว่าทำอย่างไรดี  เช่น ในรายของคุณแตง ซึ่งคุณหมอคิดว่าน่าจะคลอดได้ทางช่องคลอด แต่ภายหลังการดึงเด็กออกมาพบว่ามีปัญหาในตัวเด็กคือมีเลือดอกใต้กระดูก กะโหลกศีรษะ  ถ้าผ่าตัดคลอดเสียก็คงไม่เกิดปัญหานี้  การ ตัดสินใจของหมอในบางกรณีก็คล้ายกับการตัดสินใจว่ายน้ำข้ามฟาก บางครั้งคะเนว่าน่าจะว่ายข้ามได้ง่ายๆ แต่เวลาว่ายจริงๆ เหนื่อยแทบขาดใจเมื่อถึงฝั่ง  แน่นอนว่าการตัดสินใจถูกหรือผิดส่วนหนึ่งขึ้นกับประสบการณ์ของหมอเอง แต่บางส่วนก็มีผลมาจากคุณแม่  คุณ แม่บางคนคุณหมอตรวจดูแล้วแนะนำให้ผ่าคลอดก็ไม่ยอม อยากจะลองคลอดเองก็เลยเกิดปัญหาดังกล่าว ในขณะที่บางคนเวลาหมอแนะนำให้คลอดเองก็ไม่ยอม จะผ่าท่าเดียวก็มี ปัญหามันหลากหลายอย่างนี้แหละครับ

ฝากให้คิด : การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ ส่วนมากจะจบลงด้วยดี แต่บางครั้งก็จบแบบมีปัญหา ซึ่งให้ผลลัพท์ที่แตกต่างกันตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยจนถึงปัญหาใหญ่โตถึงขั้น เสียชีวิต แม้ว่าเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่การฝากครรภ์ที่ดีรวมทั้งความร่วมมือในการดูแลการตั้งครรภ์และการคลอดที่ ดีระหว่างคุณแม่และคุณหมอก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่น้อยครับ

บทความโดย: รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง