โรคภูมิแพ้ (ตอนที่ 2)


การรักษาโรคภูมิแพ้ มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน คือ:
 
     1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท  รวมทั้งผักและผลไม้      ออกกำลังกายเป็นประจำ    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ   และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น  แจ่มใส เพราะถ้ามีอาการเครียด  เศร้า  โกรธ  หรือกังวล  อาจทำให้อาการของโรคมากขึ้นได้    พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน   เนื่องจากอาจรับเชื้อโรค ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้  และเมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  เช่น หวัด  ไซนัสอักเสบ  ฟันผุ   คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ  หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ตา, ผิวหนัง หรือระบบทางเดินอาหาร  ควรรีบไปหาแพทย์ เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆ  เพราะจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบหรือแย่ลงไปได้      ควรดูแลสุขภาพของฟันและช่องปากให้ดี  โดยไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง  พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ อาจใช้วิธีสังเกตว่า สัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใดหรือรับประทานอะไรแล้วมีอาการ  ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด  แม้ว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกบ้าน เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในบ้านโดยเฉพาะห้องนอน  เราสามารถควบคุมได้ เช่น

ทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน  ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์,   พัดลม,    เครื่องปรับอากาศ  โดยใช้เครื่องดูดฝุ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  แล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง  ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่น เพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น  ถ้า จำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ขณะทำความสะอาดด้วย นอกจากนั้นควรล้างแผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก 2 สัปดาห์


ควรใช้เตียงที่ไม่มีขา  ขอบเตียงควรแนบชิดกับพื้นห้อง  เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นขังอยู่ใต้เตียง
 
ควรนำที่นอน   หมอน   ผ้าห่ม   มุ้ง   ผ้าคลุมเตียง มาตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที  แสงแดดจะฆ่าตัวไรฝุ่นให้ลดจำนวนลงได้

 
ควรซักทำความสะอาด ผ้าปูที่นอน  ปลอกหมอน  มุ้ง   ผ้าห่ม   ผ้าคลุมเตียง   ผ้าม่าน  อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง  ถ้าสามารถซักในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส  เป็นระยะเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้งได้ก็ยิ่งดี  เพราะจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นที่อาศัยอยู่ได้

 
ควรใช้หมอน หมอนข้าง  ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ  ไม่ควรใช้ชนิดที่มีนุ่น, ขนเป็ด, ขนไก่ หรือขนนก อยู่ภายใน   ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรหุ้มพลาสติกหรือผ้าไวนิลก่อนสวมปลอกหมอนหรือคลุมเตียง เพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น  หรืออาจใช้ผ้าคลุมที่นอน  ปลอกหมอน ที่ทำจากผ้าหุ้มกันไรฝุ่นร่วมด้วย  แล้วจึงปูผ้าปูที่นอนและใส่ปลอกหมอน    ผ้าหุ้มกันไรฝุ่นชนิดพิเศษนี้ควรซักด้วยน้ำธรรมดาทุก 2 สัปดาห์    ผ้าห่มควรเลือกชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์  หรือผ้าแพร  หลีกเลี่ยงชนิดที่ทำด้วยขนสัตว์ ผ้าฝ้าย หรือผ้าสำลี

 
ควรจัดห้องนอนให้โล่ง และมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง พื้นควรเป็นไม้หรือกระเบื้องยาง   ไม่ควรใช้พรมหรือผ้าเช็ดเท้าหน้าเตียง  ไม่ควรมีกองหนังสือ หรือ กระดาษเก่าๆ       ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด   ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า  ควรทำพลาสติกหุ้มหรือใช้ชนิดที่เป็นหนังแท้ หรือหนังเทียม หรือเป็นไม้  ไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือ ของเล่นที่เป็นขนปุกปุย  หรือทำด้วยขนสัตว์จริง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นที่กักเก็บฝุ่นได้   ไม่ควรใช้ผ้าม่าน ควรใช้มูลี่แทนเพราะทำความสะอาดง่าย

 
กำจัดแมลงสาบ  มด  แมลงวัน  ยุง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากทำให้เกิดอาการแพ้ได้  ควรให้ผู้อื่นกำจัด และทำในเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่บ้าน

 
ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข  แมว  นก  หนู  กระต่าย  เป็ด หรือไก่   ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์  และไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน     ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้อยู่นอกบ้าน  หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน  อย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้องนอน  สัตว์ที่ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงได้ โดยปลอดภัยคือ ปลา

 
-   เชื้อราในอากาศก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้   ควรพยายามอย่าให้เกิดความชื้น  หรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้นในบ้าน โดยพยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง    ตู้เสื้อผ้าควรให้มีอากาศถ่ายเทพอสมควร   อย่าให้มีน้ำท่วมขังอยู่นานๆ โดยเฉพาะหลังฝนตกหนักๆ    ตรวจและทำความสะอาดห้องน้ำ ตู้เย็น   เครื่องปรับอากาศบ่อยๆ  พยายามกำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น  เศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม  ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน เพราะดินในกระถางอาจเป็นที่เพาะเชื้อราได้   กำจัดอาหารที่เชื้อราขึ้นโดยเร็ว    เมื่อเกิดมีเชื้อราขึ้นที่ใด เช่น ผนังห้องน้ำ  ห้องครัว  กระเบื้องปูพื้น ควรทำลายโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น  น้ำยาไลโซล  น้ำยาฟอกผ้าขาวเช่น  คลอร็อกซ์

 
ละอองเกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้  ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรให้ผู้อื่นตัดหญ้า และวัชพืชในสนามบ่อยๆ  เพื่อลดจำนวนละอองเกสรของมัน   และไม่ควรนำต้นไม้  ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน   ใน ช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ และทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น

 
ในรถยนต์ส่วนตัวที่ผู้ป่วยนั่ง ควรดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ไม่ควรใช้ผ้าเป็นวัสดุคลุมเบาะรองนั่ง  หมั่นตรวจและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่ได้  เวลาเดินทางควรใช้เครื่องปรับอากาศเสมอ และไม่ควรเปิดหน้าต่าง  นอกจากนั้นควรออกเดินทางแต่เช้ามืดและกลับตอนดึกๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะจากการจราจรที่คับคั่ง

 
     การกระทำดังกล่าวข้างต้นจะสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้อย่างมาก  นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น,   ควันบุหรี่, ควันจากท่อไอเสียรถยนต์, มลพิษจากโรงงาน, ควันธูป,   กลิ่นฉุนหรือแรง เช่น กลิ่นสีหรือน้ำหอม   กลิ่นจากน้ำยาหรือสารเคมีต่างๆ      อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป  การเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าโดยตรง  การดื่มหรืออาบน้ำเย็น    การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว   ถ้าต้องการเปิดแอร์นอน  ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส   ถ้าใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด  ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร   ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ  ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ควรนอนห่มผ้า, ใช้ผ้าพันคอ หรือใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย  ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว  ควรใส่เสื้อหนาๆ แขนยาว  หรือใส่เสื้อ 2 ชั้นและกางเกงขายาวเข้านอน     นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการอดนอน   การดื่มเหล้า   หรือสูบบุหรี่  อาหารบางชนิดที่แพ้โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคแพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล  ถั่ว  ไข่  นม  เนื้อสัตว์   หลีกเลี่ยงยาบางชนิดโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดกระดูก ยาคลายกล้ามเนื้อ   ผู้ป่วยควรสังเกตว่าสารใด หรือภาวะแวดล้อมอะไร หรือการปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้อาการของโรคมากขึ้นจะได้พยายามหลีกเลี่ยง


บทความโดย รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง