เรื่องของยาเคมีบำบัด เรื่องลึกแต่ไม่ลับ

ราทราบกันดีว่า ยาเคมีบำบัด เป็น ยารักษามะเร็ง โดยเฉพาะที่มีฤทธิ์ทำลาย ยับยั้งการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัด การฉายแสง หรือให้ยาฮอร์โมน โดยยาที่ใช้อาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค รวมทั้งสภาวะของผู้ป่วย สำหรับวิธีการให้มีหลายวิธีขึ้นกับชนิดของโรคและชนิดของยา ได้แก่ การรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรงหรือผสมยาเคมีบำบัดในขวดสารน้ำและให้หยดอย่าง ต่อเนื่องเข้าหลอดเลือดดำ และฉีดเข้าช่องท้อง 

       เพื่อช่วยให้ผู้ที่เป็นมะเร็งได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธีและปลอดภัย เรามีคำแนะนำดังนี้

 
การเตรียมตัวก่อนให้ยาและการปฏิบัติขณะรับยาเคมีบำบัด
       1.บำรุงร่างกายให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม  ผักและผลไม้ ควรรับประทานอาหารที่รสไม่จัด ย่อยง่าย และดื่มน้ำมาก ๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 2–3 ลิตร
       2.พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ
       3.หาก มีฟันผุหรือเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนเริ่มรับยาเคมีบำบัด แต่ถ้าต้องการรักษาฟันผุหรือเหงือกอักเสบระหว่างนับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จะต้องตรวจเลือดก่อนทำฟันเพื่อดูจำนวนเกร็ดเลือด
       4.รับการตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมของร่างกายก่อนให้ยา
       5.รับประทานอาหารก่อนเริ่มรับยาเคมีบำบัดประมาณ 2–3 ชม.ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเริ่มรับยา
       6.นอน ในท่าที่สบายที่สุด ไม่ควรเคลื่อนไหวหรือยกแขนข้างที่รับยามากเกินไป(ในกรณีที่ให้ยาทางหลอด เลือดดำ)ไม่เปิด ปิด หรือปรับหยดของสารน้ำเอง หากสารน้ำหยดเร็วปกติหรือมีอาการปวดบวมบริเวณที่ได้รับสารน้ำควรแจ้งให้เจ้า หน้าที่ทราบทันที
       7.บ้วนปากบ่อย ๆ ก่อนและหลังอาหารด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำเกลืออ่อน ๆ เพื่อช่วยให้ปากสะอาดและเพิ่มความอยากอาหาร
       8.ควรแจ้งอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับท่านในระหว่างได้รับยาเคมีบำบัดให้แพทย์ทราบเพื่อจะได้รับการดูแลต่อไป

ระยะเวลาและจำนวนครั้งของการให้ยาเคมีบำบัด
       โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด 3 ชุดขึ้นไป แต่ละครั้งอาจใช้เวลา 1–2 วัน หรือมากกว่า และมีระยะพักของการให้ยาแต่ละครั้งแตกต่างกันขึ้นกับการรักษา โดยมากมักจะให้ประมาณ 6 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค ตลอดจนการตอบสนองต่อยา จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ท่านต้องมารับยาตามนัดทุกครั้ง หากไม่สามารถมารับการรักษาตามนัดได้ ควรสอบถามกับแพทย์เพื่อพิจารณาเลื่อนการรักษาออกไป ไม่ควรขาดการรักษาไปเอง

       นอกจากนี้ก่อนรับยา และช่วงระหว่างรับยาแต่ละครั้ง แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อประเมินว่าสุขภาพร่างกายของท่านแข็งแรง พอที่จะรับยาในครั้งนั้น ๆ ได้หรือไม่ และภายหลังการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะมีการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจร่างกาย การตรวจภายใน ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจคอมพิวเตอร์สแกนต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ หากผลการรักษาไม่ดีพอ หรือเนื้องอกไม่ยุบ แพทย์จะเปลี่ยนชนิดของยาเคมีบำบัด หรือเปลี่ยนวิธีการรักษาตามความเหมาะสมแล้วแต่ละราย

ขณะรับยาเคมีบำบัดจะสามารถใช้ยาอื่นร่วมด้วยได้หรือไม่
       ยาบางชนิดอาจมีผลต่อยาเคมีบำบัด ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาอะไรอยู่เป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองในระหว่างที่ท่านได้รับยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงจากการรับยาเคมีบำบัดมีหรือไม่
       ยาเคมีบำบัดแทบทุกชนิดจะมีผลข้างเคียง โดยอาจมีอาการขณะกำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือภายหลังจากได้รับยาแล้ว สาเหตุเกิดจากขณะที่ยาไปทำลายเซลล์มะเร็งที่กำลังแบ่งตัวก็อาจจะมีผลต่อ เซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวได้เช่นกัน แต่จะมีผลน้อยกว่าและมีผลต่อเซลล์บางชนิดเท่านั้น ท่านควรแจ้งผลข้างเคียงของยาที่เกิดกับท่านให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ในขณะที่ได้รับยาหรือก่อนมารับยาครั้งต่อไป เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับท่าน ซึ่งผลข้างเคียงนี้ มิใช่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย และขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
        1.ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและควรพักผ่อนให้เพียงพอ
        2.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
        3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งในระยะที่มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน และดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2–3 ลิตร
        4.หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด วัณโรคปอด ผู้ป่วยที่มีไข้
        5.การ มีเพศสัมพันธ์จะต้องไม่รุนแรง และคู่สมรสจะต้องไม่มีการติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ ยกเว้นในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือตามคำแนะนำของแพทย์
        6.ภายหลังได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 2 สัปดาห์ ควรรับการตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไขกระดูก และนำผลเลือดมาให้แพทย์ดูรวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

        ที่สำคัญจะต้องกลับมารับยาเคมีบำบัดตามแพทย์นัด ในกรณีที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หนาวสั่น มีเลือดออก ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนมาก ควรมาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด


บทความโดย: รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ 
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง