รู้ทันความโกรธ (ตอนที่ 2)

                                                            
ความโกรธกับการใช้สารเสพติด
            คนบางคนไม่รู้จะจัดการกับความโกรธอย่างไรก็เลยใช้วิธีแช่แข็งมันโดยผลักไปเก็บ ไว้ในใจที่บางคนเรียกว่าเก็บกด ให้ดูเหมือนไม่มีมันอยู่ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะมันคือระเบิดที่รอวันปะทุ  ผู้ ที่มีโอกาสติดสารเสพติดไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาด้านความโกรธ และไม่ได้คิดว่าปัญหาความโกรธเกี่ยวข้องกับการติดเหล้า ยา หรือสารเสพติด เพราะเหล้า ยาหรือสารเสพติดอื่นๆจะช่วยหลอกว่าใช้แล้วสบาย ผ่อนคลาย แม้ว่าเมื่อหมดฤทธิ์ยาปัญหาก็คงยังอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สบายใจก็กลับจำได้ว่าเมื่อใช้ยาหรือสารเสพติดนั้น แล้วจะสบายใจขึ้นจึงวนเวียนกลับไปใช้อยู่ จนเกิดการดื้อยาทำให้ต้องเพิ่มขนาดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไปและในที่สุดก็ขาดมัน ไม่ได้ ซึ่งเมื่ออยู่ในภาวะเสพติดจนขาดสติสัมปชัญญะอารมณ์รุนแรงก็จะระเบิดออกมาไม่ ทางใดก็ทางหนึ่ง

ความโกรธกับโรคซึมเศร้า
          เรามักจะคิดว่ามันคนละเรื่อง เพราะดูเหมือนแตกต่างกันอย่างสุดโต่ง เพราะคิดว่าถ้าได้ระบายความโกรธออกมาแล้วจะโล่งใจและมันน่าจะมีความ สุขมากกว่า แต่ในความเป็นจริงลองกลับไปดูอารมณ์จริงๆหลังจากระบายออกไป จะเห็นได้ว่ามันโล่งก็จริงแต่หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือความรู้สึกผิด และเสียใจ บางคนกลับมาโกรธตัวเองว่าไม่รู้จักระงับอารมณ์ เสียภาพลักษณ์ ขาดวุฒิภาวะฯ และที่ร้ายที่สุดคืออาจจะทำให้เสียโอกาสดีๆในชีวิตไป
            ตรงกันข้ามคือการที่ไม่แสดงอารมณ์โกรธเลยเพราะคิดว่าดูไม่ดีหรือกลัวว่าจะไม่ ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ดังนั้นเมื่อมีเรื่องที่ทำให้โกรธก็จะเก็บกดตลอดเวลาใบหน้าจะเปื้อนยิ้มอยู่ เสมอ แต่ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าอมทุกข์อยู่ภายใน ความโกรธไม่ได้หายไปไหนจะสะสมพอกพูนอยู่ในตัวรอวันระเบิดเมื่อหมดแรงกดหรือ เมื่อมันเต็มล้น เหมือนกาน้ำที่ปิดฝาสนิทตั้งอยู่บนเตาไฟตลอดเวลา
            ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างบนล้วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ทั้งคู่ ทั้งนี้เพราะความคิดที่สุดโต่งทั้งสองด้านคือด้านหนึ่งก็โพล่งออกมาตรงๆแล้ว เสียใจภายหลัง แต่อีกด้านหนึ่งคือเก็บกดเอาไว้จนมันระเบิดออกมาอย่างรุนแรงและจบลงด้วยความ เสียใจของตนเองและคนที่เกี่ยวข้อง

ความสัมพันธ์ระหว่างความเศร้าและอารมณ์โกรธ
          ความรู้สึกเบื่อ เหงา หดหู่ใจ ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกไม่มีคุณค่า รู้สึกผิด ไม่สามารถควบคุมความคิดในแง่ร้ายของตัวเองได้แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม สมาธิไม่ดี ความจำเสีย อะไรที่เคยทำได้ง่ายๆกลับเป็นเรื่องยาก น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ การนอนหลับผิดปกติ อาจจะตื่นกลางดึกและไม่สามารถหลับต่อได้หรือนอนหลับมากเกินไป มีอาการปวดตามที่ต่างๆในร่างกายโดยหาสาเหตุไม่ได้ เหล่านี้เป็นอาการที่พบทั่วไปในผู้ป่วยซึมเศร้า แต่คนที่ความโกรธและเป็นแรงขับให้เกิดความเศร้าจะไม่เหมือนการโกรธทั่วๆไป แต่จะเป็นความโกรธที่ผสมความเกลียดทั้งต่อตัวเอง คนอื่น หรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี พฤติกรรมที่เห็นได้ตั้งแต่แรกคือการปลีกตัวหรือแยกตัวไปจากครอบครัว เพื่อนฝูง มีผลการทำงานหรือการเรียนแย่ลง ขาดแรงจูงใจ นอนไม่หลับ ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกผิด ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ปัญหาครอบครัว การขาดการสนับสนุนทางสังคม การใช้สุราและสารเสพติด หรือแม้แต่การได้รับประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็กและกรรมพันธุ์

ลักษณะที่แสดงออกของความเศร้า
          พฤติกรรมการแสดงออกของความเศร้ามีความแตกต่างไปตามเพศและวัย วัยรุ่นอาจจะแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว โผงผาง ตรงไปตรงมา ส่วนคนหนุ่มสาวจะออกทางอาการเจ็บปวดส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจที่จะบอกถึงความไม่พึงพอใจในสภาวะที่เป็นอยู่และเป็น การร้องขอความช่วยเหลืออ้อมๆ สำหรับผู้สูงอายุความเศร้ามักมาจากการสูญเสีย เช่นการตายจากของคู่สมรส การเกษียณจากงาน อิสระที่จะทำอะไรต่างๆด้วยตนเองลดลงตามสภาพร่างกายและสุขภาพ ดังนั้นการแสดงออกก็มักเป็นการบ่นถึงสิ่งต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเสียทำให้เกิดการพูดหรือถามซ้ำๆถึงเรื่องที่แม้จะ เพิ่งผ่านไปทำให้ลูกหลานอาจจะแสดงความรำคาญหรือมีปฏิกิริยาจนทำให้ผู้สูง อายุเกิดความน้อยใจหรือโกรธพลุ่งออกมาได้
            ผู้ชายมักแสดงออกออกด้วยการบ่นถึงความล้า หงุดหงิด มีปัญหาการนอนหลับ ขาดความสนใจในเรื่องรอบๆตัว และใช้สุราหรือสารเสพติดเป็นทางออก ในขณะที่ผู้หญิงมักแสดงออกด้วยความรู้สึกผิด กินมากนอนมากน้ำหนักเพิ่ม หรือตรงกันข้ามกินไม่ได้นอนไม่หลับน้ำหนักลด อัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่าเนื่องจากฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จะมีประจำเดือน บางคนจะมีอาการ Premenstrual syndrome (PMS) หรือหลังคลอดบุตรอาจจะมีอาการ Postpartum blue ให้เห็น

            สัญญาณเตือนการคิดฆ่าตัวตายหรือสัญญาณการร้องขอความช่วยเหลือทางอ้อม
1.   พูดออกมาว่าจะฆ่าตัวตาย หรือพูดทำนองว่าคนอื่นคงจะดีขึ้นถ้าตัวเองตายไปซะ หรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าหมดหวังหรือถึงทางตัน
2.    หมกมุ่นกับเรื่องความตายผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆซึ่งมีแรงขับมาจากความรู้สึกอยากตาย
3.    ไปพบคนคุ้นเคยหรือคนที่ไม่ได้พบกันมานานเพื่อล่ำลา
4.    เปลี่ยน อารมณ์อย่างรวดเร็วจากเศร้ามาสู่ความสงบ นิ่ง และดูเหมือนมีความสุข สิ่งนี้อาจจะบอกทางอ้อมว่าเขาตัดสินใจได้แล้วว่าจะฆ่าตัวตาย

          สรุป     การที่มีอารมณ์โกรธเป็นครั้งคราวเป็นเรื่องปกติของชีวิต แต่ถ้าเป็นบ่อยและเป็นอยู่นานไม่ค่อยหายไปอาจจะเป็นเรื่องของความเศร้าที่ อยู่เบื้องหลังก็ได้ ฉะนั้นอารมณ์โกรธจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ถ้าสามารถรับรู้ได้เร็วถูกต้องและสามารถตั้งรับได้เหมาะสมก็เป็นเรื่องปกติ อาจจะเป็นแรงผลักให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆได้ เช่นโกรธที่ไม่ได้เกิดมาสบายเหมือนคนอื่นก็อาจจะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถ อดทนจนสร้างเนื้อสร้างตัวให้ดีกว่าเดิมได้ แต่ตรงกันข้ามถ้ามีอะไรไม่พอใจแล้วกลับท้อแท้ สงสารตัวเอง จมปลักกับความคิดนั้นๆความเศร้าก็จะตามมา ที่ร้ายก็คืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นแค้นและทำเรื่องไม่เหมาะสมจนเดือดร้อนทั้ง ตัวเองและสังคม ดังนั้นถ้าพบว่าตนเองเศร้าอาจจะต้องลงไปสำรวจจริงๆจังๆว่ามีเรื่องของความ โกรธซ่อนและผลักดันอยู่ภายในหรือไม่ จะได้แก้ไขให้ตรงประเด็น


บทความโดย: รศ.กนกรัตน์ สุขะตุงคะ
ที่ปรึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาคลินิก  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง