เล่นดี สมองดี มีศักยภาพ


เด็กรู้จักการเล่นตั้งแต่เล็ก และพัฒนาการเล่นมากขึ้นตั้งแต่ตื่นจนหลับ การเล่นจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เซลล์สมองเชื่อมประสานกันมากขึ้น เยื่อหุ้มใยประสาทหนามากขึ้น เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการและการเพิ่มศักยภาพ การเล่นของเด็กเป็นการใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ และช่วยพัฒนาสมองของเขา
สำหรับลูกวัยแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่า ทารกตัวเล็ก ๆ ยังเปราะบางจะสามารถเล่นกับลูกได้แล้วหรือ ลูกไม่น่าจะรู้เรื่องการเล่นมากไปกว่าการกินหรือการนอน ความจริงแล้ว ถึงแม้ชีวิต 2 เดือนแรกของทารกส่วนใหญ่จะหมดไปกับการนอนหลับ 50-75% ก็ไม่ได้หมายความว่าทารกจะรู้จักเพียงการกินและการนอน แต่ทารกยังมีช่วงตื่นตัวและพร้อมจะรีเยนรู้นั่นก็คือในช่วง 5-10 นาทีก่อนหรือหลังเวลาให้นมช่วงเช้า กลางวัน และเย็น เพราะเป็นช่วงที่เขาอยู่ในภาวะผ่อนคลายและตื่นตัวต่อการเรียนรู้มากที่สุด

หนูเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส
เด็กวัยแรกเกิด-6 เดือน ยังพูดไม่ได้ แต่เขาจะเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส พบว่าเด็กที่ได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วน จะมีพัฒนาการทางสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้น โดยสามารถช่วยเพิ่ม IQ ให้เด็กได้ถึง 15 จุด เพราะช่วงอายุ 0-3 เดือน สมองของเด็กกำลังพัฒนาสร้างใยประสาทจำนวนมหาศาล ยิ่งมีใยประสาทมาก ยิ่งมีความฉลาด ถ้าไม่มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุก ๆ ส่วน ประสาทก็ไม่มีข้อมูล พอเด็กโตขึ้นเรื่อย ๆ ใยประสาทก็จะค่อย ๆ สลายตัว เพราะสมองมีใยประสาทน้อย สติปัญญาก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

เล่น พัฒนาประสาทสัมผัสลูกวัยแรกเกิด – 6 เดือน

ตา (การมองเห็น)
ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประสาทตาจะเป็นส่วนที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ที่สุด ทารกแรกเกิดสามารถมองเห็นได้ในระยะใกล้ ๆ เพียง 10-13 นิ้วและยังมองเห็นสีต่าง ๆ ไม่ชัดเจน จากการวิจัยของ Dr.Robert Fantz จากมหาวิทยาลัย Cleveland รัฐโอไฮโอ พบว่าทารกแรกเกิดเลือกที่จะมองภาพรูปทรงเรขาคณิต สีดำ-ขาวมากกว่าสีอื่น ๆ สีดำ-ขาว เป็นสีที่มีความเข้มแตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงช่วยกระตุ้นการมองเห็นของเด็กให้เกิดความสนใจอย่างมีจุดหมาย พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมให้เด็กทารกกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้นในวัยต่อ ๆ มา อายุ 6 เดือน การประสานงานของตาสองข้างจะดีขึ้น ประกอบกับกล้ามเนื้อมือก็เริ่มพัฒนา ลูกจะมองและหยิบจับของได้ดีขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ลูกจะมองเห็นแต่คว้าของได้ไม่แม่น เพราะสายตายังไม่ดี กล้ามเนื้อก็ยังควบคุมไม่ได้ หลัง 6 เดือน ลูกจะมองเห็นได้ชัดขึ้นและไกลขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่ง 3 ขวบขึ้นไป ลูกจะพัฒนาการมองเห็นได้เหมือนผู้ใหญ่
เล่น กระตุ้นการมองเห็นของลูก นำแผ่นกระตุ้นสายตาที่มีสีขาว-ดำ-แดง หรือโมบายมาห้อยให้ลูกดู เล่นโบกมือให้ลูกมองตาม ยื่นหน้าเข้ามาพูดคุย ยิ้ม หยอกล้อลูก ไม่ควรปล่อยให้เขานอนเฉย ๆ อยู่ทั้งวัน

หู (การได้ยิน)
เมื่อคลอดออกมาลูกจะได้ยินเสียงแล้ว เพียงแต่ยังหาต้นตอของเสียงไม่ได้ กระทั่ง 3 เดือน จึงจะเริ่มหาที่มาของเสียงได้ แต่ก็ยังหันหาเสียงไม่ได้ เพราะคอยังไม่แข็ง อายุ 6 เดือนลูกเริ่มมองหาต้นตอของเสียงที่มาจากด้านข้างได้ คอของลูกที่เริ่มแข็งจะช่วยให้เขาเหลียวมองหาเสียงได้ แต่ก็ยังหันหาเสียงจากด้านบนและล่างไม่ได้ อายุ 9 เดือน ลูกถึงจะเริ่มหันหาเสียงได้ทุกทิศทาง และเริ่มพัฒนาความชัดเจนในการได้ยินอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาภาษาต่อไป
เล่น กระตุ้นการได้ยินของลูก พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ร้องเพลงกล่อมเขาบ้าง เปิดเพลงให้ฟังบ้าง หรือลองหาของเล่นที่ส่งเสียง กรุ๋งกริ๋งให้เขาฟัง ขณะเดียวกันก็ให้เขานอนในห้องเงียบ ๆ บ้าง เพื่อหัดให้แยกแยะความแตกต่างระหว่างการมีเสียงและความเงียบ แต่อย่าให้ขังเสียงอึกทึกครึกโครมการเปิดทีวี วิทยุ ตลอดเวลา หรือสร้างบรรยากาศให้มีหลายเสียงพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่พัฒนาการได้ยินที่ถูกต้อง

มือ (สัมผัส)
ตั้งแต่แรกเกิด ลูกเรียนรู้การสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันของเขา ไม่ว่าจะเป็นการโอบกอดจากพ่อแม่ การลูบเนื้อตัว การอาบน้ำ ถูสบู่  อายุ 2-3 เดือน เขาเริ่มสนุกกับการใช้มือคว้าของ แต่ก็คว้าไม่แม่นนัก เพราะมือกับตายังไม่ทำงานประสานกัน 4-5 เดือน ลูกเริ่มคว้าของได้แล้ว และจับได้มั่นคงขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 6
เล่น กระตุ้นการสัมผัสของลูก 3 เดือนแรกลูกอาจจะกำมืออยู่ตลอดเวลา เมื่ออารมณ์ดี ๆ แกะมือเขาออกแล้ววางวัสดุที่มีพื้นผิวแตกต่างกันไปเรื่อย ๆ เช่น นุ่มบ้าง แข็งบ้าง ใส่ไว้ในฝ่ามือลูก เขาจะได้เรียนรู้ผิวสัมผัสของวัสดุต่าง ๆ หรือหมั่นเปลี่ยนท่านอนให้ลูกบ้าง จะช่วยให้ลูกได้รับผิวสัมผัสที่แตกต่างออกไป

จมูก (กลิ่น)
เคยมีงานวิจัยทารกแรกเกิด โดยใช้ผ้า 2 ผืน ผืนหนึ่งชุบน้ำนมของแม่ตนเอง อีกผืนหนึ่งชุบน้ำนมของแม่เด็กอื่น แล้วยื่นผ้าทั้งสองผืนมาใกล้ ๆ เด็กทารก ปรากฏว่าเด็กหันหน้าไปทางผ้าที่ชุบน้ำนมแม่ตัวเอง แม้จะยื่นผ้าสลับข้างกันเด็กก็ยังหันไปทางผ้าที่ชุบน้ำนมแม่ตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเด็กสามารถรับรู้กลิ่นได้ตั้งแต่แรกเกิด และกลิ่นที่ดึงดูดและกระตุ้นประสาทสัมผัสลูกแรกเกิดได้มาก คือกลิ่นของแม่นี่เอง
เล่น กระตุ้นการรับกลิ่นของลูก นอกจากกลิ่นกายแม่ ซึ่งลูกได้จากการที่แม่สัมผัส โอบกอด หอมลูก คุณแม่สามารถให้เขาได้ดมกลิ่นต่าง ๆ รอบตัวที่เขาสัมผัสเป็นประจำ เช่น กลิ่นแป้ง กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ ฯลฯ เพื่อพัฒนาการรับกลิ่นของเขา

ลิ้น (รส)
การรับรสของลูกก็เหมือนกับประสาทสัมผัสชนิดอื่น คือมีพัฒนาการไปตามวัย แต่ละตำแหน่งของลิ้นจะรับรสที่หลากหลายแตกต่างกันไป ปุ่มรับรสหวานอยู่ที่ตรงกลางของลิ้น ส่วนรสขมอยู่โคนลิ้น รสเค็มอยู่ด้านข้างของลิ้น
เล่น กระตุ้นการรับรสของลูก นอกจาน้ำนมของแม่ เอถึงวัยลูกกินอาหารเสริมได้ การให้ลูกกินอาหารที่หลากหลาย เหมาะสมตามวัยของเขา จะช่วยกระตุ้นการรับรสของลูกได้แล้ว

การแสดงความรักต่อลูกไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม การสัมผัส การโอบกอด จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของเซลล์สมองเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การแสดงออกทางอารมณ์ ระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องได้รับการกระตุ้นจากประสบการณ์ที่เข้ามาในสมองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในสมองพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานไปจนตลอดชีวิตของเด็ก หากไม่มีการกระตุ้นที่เหมาะสม เด็กจะขาดพัฒนาการด้านนั้น จะทำให้เครือข่ายเส้นใยสมองที่ควรจะมีไม่เกิดขึ้น


0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง