พัฒนาการทางสมองของลูกน้อยในครรภ์

เดือนที่ 1-2
หลังปฏิสนธิได้ประมาณ 18 วัน เซลล์ที่เกิดจากไข่กับสเปิร์มผสมกัน และแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งจะเจริญเติบโตเป็นสมอง เริ่มมีรูปร่างที่มองเห็นได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อสมอง โดยแรกเริ่มเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วค่อย ๆ โค้งเข้ามาบรรจบกันเป็นท่อเหมือนหลอดกาแฟ ต่อมาหลอดนี้จะเริ่มโป่งพองจัดโครงสร้างเป็นสมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง

เดือนที่ 2-3
ระยะนี้ เซลล์สมองจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณนาทีละ 250,000 เซลล์ และแยกรูปแบบเป็นสมองกับไขสันหลังอย่างชัดเจน เซลล์สมองเริ่มมีการเคลื่อนย้ายไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของสมองเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ และเริ่มมีเส้นใยประสาทยื่นออกมาติดต่อถึงกัน อาศัยปฏิกิริยาของสารเคมีจากเซลล์สมอง ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าวิ่งไปมาระหว่างเซลล์สมอง ทำให้เกิดวงจรประสาท มีการรับส่งข้อมูลขึ้นในสมอง นี่หมายความว่าสมองของลูกเริ่มทำงานแล้ว

เดือนที่ 3-4
ช่วงนี้สมองของลูกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วแขก เส้นใยประสาทเริ่มมีไขมันหรือมันสมองมาล้อมรอบเช่นเดียวกับฉนวนสายไฟ เพื่อให้กระแสไฟฟ้าวิ่งไปมาระหว่างเซลล์สมองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การสื่อสารรับส่งข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

เดือนที่ 5-6
เซลล์สมองส่วนใหญ่พัฒนาตัวเองอย่างสมบูรณ์ และเริ่มมีการจัดระดับตัวเองที่พื้นผิวสมองเป็นชั้น ๆ ตามโครงสร้างแต่ละส่วนของสมองทำให้ระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์

เดือนที่ 6-7
สมองของลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่พื้นผิวสมองยังคงราบเรียบ ไม่มีรอยหยัก มีการสร้างไขมันมากขึ้น จำนวนเซลล์สมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเส้นใยสมอง และจุดเชื่อมต่อ

เดือนที่ 7-9
ระยะนี้สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทส่วนกลางของทารกพัฒนาไปอย่างมาก เส้นประสาทมีการสร้างเยื่อหุ้มที่มาจากไขมัน ทำให้การส่งผ่านสัญญาณในเส้นประสาททำได้รวดเร็วขึ้น มีการแผ่กิ่งก้านสาขา เพื่อเชื่อมต่อกันเป็นร่างแหของระบบประสาท เซลล์สมองทารกขยายขนาดโตขึ้น  มีการแผ่นขยายสร้างโยงใยของระบบประสาทมากขึ้น สมองมีหยักตัวเป็นร่องเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเก็บสะสมข้อมูล ยิ่งเซลล์สมองมีขนาดใหญ่ มีเส้นใยมาก มีการเชื่อมโยงประสานของเส้นใยมาก มีร่องสมองมาก ก็ยิ่งจะทำให้มีความจำ มีการเรียนรู้และการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง