หลากอารมณ์คุณแม่ตั้งท้องต้องรู้

คุณแม่ที่ตั้งท้องหลายคนสงสัยทำไมท้องแล้วอารมณ์แปรปรวนง่ายจัง เดี๋ยวหงุดหงิด อารมณ์เสีย น้อยใจก็บ่อย บางทีออกจะเศร้าๆ แม้กระทั่งคนใกล้ชิด ยังรู้สึกถึงความแปรปรวนนี้ อย่าลืมว่าเจ้าตัวน้อยในครรภ์สามารถตอบสนองต่ออารมณ์ต่างๆ ของคุณได้ มาทำความเข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมวิธีรับมือง่ายๆ ที่แม่ท้องต้องรู้กันดีกว่าค่ะ
 
สาเหตุอารมณ์เปลี่ยน

สาเหตุหลักของอารมณ์ที่ไม่คงที่ของแม่ท้องคือ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปค่ะ และเจ้าฮอร์โมนที่ว่าก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง ใน 1 วัน ร่างกายแม่ท้องจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากพอๆ กับปริมาณฮอร์โมนที่ร่างกายของคนปกติใช้เวลาผลิตถึง 3 ปี กันเลยทีเดียว มิน่าล่ะ อารมณ์ถึงแกว่งไปมา อะไรๆ ก็ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยตลอด จนแม่หลายคนกังวลว่าตัวเองผิดปกติหรือเปล่า เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น อยากชวนแม่ๆ มารู้จักอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงไตรมาสกันค่ะ

             ไตรมาสแรก แน่นอนว่าระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์นั้น มักส่งผลให้คุณมีอารมณ์แบบขึ้นๆ ลงๆ นอกจากขี้หงุดหงิดและขี้รำคาญแล้ว ยังกลายเป็นคนขี้ใจน้อย แถมเอาแต่ใจตัวเองด้วยค่ะ หลายคนอยู่ๆ ก็ซึมเศร้า อ่อนไหวและร้องไห้ฟูมฟายไร้เหตุผลได้อย่างง่ายดายรวมๆ กับความกังวลเรื่องตั้งครรภ์ และอารมณ์ทางเพศก็ไม่ค่อยคงที่เสียด้วยสิ

            ไตรมาสสอง ผ่านสามเดือนแรกไป ช่วงนี้แม่ๆ เริ่มมีความสุขกับตัวเองและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นค่ะ เพราะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญรู้สึกถึงอีกชีวิตที่ส่งสัญญาณสื่อสารกับคุณอยู่เรื่อยๆ ยามที่ลูกดิ้น หลายคนเริ่มตระเตรียมของใช้สำหรับเจ้าตัวน้อยกันแล้ว แต่บางครั้งก็รู้สึกเหงาๆ อยู่เหมือนกันที่ต้องห่างจากงานที่รัก และเพื่อนร่วมงานที่เมาท์แตกกันอยู่ทุกวัน แถมยังมีอาการไม่สบายตัวจากการปวดเมื่อยตามร่างกายตามมาอีก เครียดได้นะคะแบบนี้

            ไตรมาสสาม สามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แม่ๆ หลายคนตื่นเต้น เริ่มนับถอยหลังวันที่จะได้เจอหน้าเจ้าตัวเล็กแล้ว อีกใจหนึ่งทั้งเครียดทั้งกังวลเรื่องการคลอด จะคลอดแบบไหนดี ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างนะ ลูกเราจะสมบูรณ์ดีหรือเปล่า การคลอดจะราบรื่นไหม แล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี บางคนเครียดจนเก็บไปฝันกันเลย สารพัดคำถามและข้อสงสัยพรั่งพรู

            นอกเหนือจากนี้ เรื่องงานและรายได้ ยังเป็นอีกเรื่องที่ไม่ว่าแม่ยุคไหนต่างก็ต้องกังวลใจ ยิ่งเศรษฐกิจตกแบบนี้ด้วยแล้ว ไม่ได้ไปทำงานเจ้านายจะว่าไงบ้างก็ไม่รู้ แถมมีแต่รายจ่าย ไปหาหมอตามนัด บำรุงร่างกาย ดูแลตัวเอง ค่าใช้จ่ายสารพัด ไม่ให้เครียดอย่างไรไหว
 
ผลกระทบของอารมณ์เปลี่ยน

อย่างที่รู้กันค่ะว่า หลากอารมณ์ของแม่ท้อง ส่งผลกับทั้งร่างกายและจิตใจของแม่เอง และยังส่งผลไปยังลูกที่อยู่ในครรภ์อีกด้วย

ผลกระทบกับแม่ท้อง ความเครียดที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องมีทั้งความเครียดหงุดหงิดทั่วไป เครียดแบบฉับพลัน ไปจนถึงการสะสมความเครียดไว้เนิ่นนาน จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ส่งผลให้ร่างกายแม่เกิดความเจ็บป่วย ไม่แข็งแรง คลื่นไส้ ปวดหัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ และอ่อนเพลียไร้ซึ่งกำลังวังชา การดำเนินชีวิตต่างไปจากเดิม

เมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ท้องรู้สึกเครียด อาจจะเกิดหัวใจเต้นเร็ว เจ็บท้องก่อนกำหนด หลอดเลือดตีบลง ความดันโลหิตสูง ทั้งที่โดยปกติแล้วแม่ท้องก็มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความดันที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลต่อร่างกายแม่ท้องได้แล้วค่ะ

ผลกระทบกับลูกในท้อง ลูกสามารถรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของคุณได้จากสารเคมีที่แม่หลั่งออกมาในกระแสเลือด หากแม่ท้องอารมณ์ดี ก็จะหลั่งสารแห่งความสุขหรือสารเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้ลูกเติบโตและมีพัฒนาการที่ดี แต่หากแม่ท้องรู้สึกเครียด โกรธ หงุดหงิด กระทั่งหวาดกลัว ร่างกายแม่จะหลั่งสารแห่งความเครียดหรือสารอะดรีนาลิน ส่งผ่านความรู้สึกไปยังลูก และแน่นอนว่าลูกรู้สึกเครียดตามไปด้วย ส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้าไปตามระเบียบค่ะ

ยิ่งเครียดมากและรู้สึกแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างกับลูก เช่น น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอด เด็กคลอดก่อนกำหนด มีการเรียนรู้และปรับตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ค่อนดี อาจทำให้เป็นเด็กเลี้ยงยาก งอแง ขี้งอน โมโหง่าย ร้องไห้เก่ง และมีปัญหาอื่นๆ แต่หากว่าแม่เกิดความเครียดเพียงเล็กน้อยจะส่งผลตรงกันข้ามเลยค่ะ นั่นคือ การที่ลูกรู้จักอดทนต่อความเครียดระหว่างการคลอดได้ดีขึ้น ใช่ว่าความเครียดจะมีผลเสียเสมอไป เพียงแต่คุณต้องระวังให้มีอย่างพอเหมาะ ไม่มากเกินไปเท่านั้นเองค่ะ

ดูแลอารมณ์ที่เปลี่ยนไป

จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะอารมณ์ได้ แม่ท้องต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ยอมรับและรู้จักหาวิธีผ่อนคลายค่ะ เพื่อลดความเครียดความกังวลในใจ และเสริมสร้างความสุขสดชื่น เพื่อตัวเองและลูกในท้องไงคะ

เข้าใจอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีในการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ เมื่อคุณรู้แล้วว่าการตั้งท้องส่งผลต่ออารมณ์อย่างไรบ้าง ก็จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่เป็นวิธีการรับมือเบื้องต้นที่ได้ผลดีค่ะ การรู้ว่าตัวคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ยังทำให้คุณไม่วิตกกังวลเกินความจำเป็น เพราะรู้สาเหตุอยู่แล้ว

หลากวิธีผ่อนคลาย หลายกิจกรรมที่ไม่ต้องหาที่ไหนไกล อยู่ใกล้ๆ ตัวอย่างการฟังเพลงสบายๆ อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือกระทั่งการได้ดูหนังสนุกๆ ก็สร้างความสุขให้แม่ท้องได้แล้ว หรือว่าจะทำงานศิลปะเก๋ๆ วาดรูป จัดดอกไม้ ได้ผลงานน่าภูมิใจ และผ่อนคลายได้ อาจหาดอกไม้มาเติมความสดชื่นให้กับมุมต่างๆ ในบ้านได้ดี

ออกกำลังกาย ยังเป็นอีกกิจกรรมที่อยากให้แม่ท้องทำเป็นประจำ เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ทำให้คุณอารมณ์ดีแล้ว ยังทำให้สุขภาพของทั้งคุณและลูกในท้องดีอีกด้วย เสริมด้วยการนั่งสมาธิในบางวัน เพื่อจิตที่สงบผ่อนคลาย ไม่เครียดและเพิ่มพลังสมาธิให้กับตัวคุณเอง

ออกไปนอกบ้าน ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศซ้ำซากจำเจได้เหมือนกันค่ะ ไม่ว่าจะนัดเพื่อนๆ มานั่งกินข้าวเมาท์แตก หรือนัดรวมญาติที่อาจจะไม่ได้เจอกันบ่อยนักมาดินเนอร์นอกบ้าน และที่พลาดไม่ได้คือการชอปปิง เดินเล่นดูของลองนู่นนี่ไปเรื่อย ความสุขที่ผู้หญิงเราโปรดปรานค่ะนานๆ ครั้งชวนคุณสามีไปพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์และสัมผัสธรรมชาติที่ต่างจังหวัดก็ช่วยได้เช่นกันค่ะ

หาตัวช่วย ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยรับมือกับอารมณ์ของแม่ท้องได้ดีที่สุดคือ ความเข้าใจจากบรรดาพ่อๆ ซึ่งควรจะมีข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงทางภาวะอารมณ์ของแม่ท้อง เพื่อทำความเข้าใจและดูแลเอาใจใส่ไม่ห่าง นอกจากพ่อแล้ว คนใกล้ชิดก็มีส่วนช่วยได้ไม่น้อย นอกจากช่วยดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจของแม่แล้ว ยังเป็นเพื่อนคุยให้แม่ๆ ไม่เหงา และรับฟังสิ่งที่แม่ๆ เป็นกังวลได้ดีอีกด้วย

ไม่ว่าอารมณ์แม่ท้องจะเปลี่ยนแปลงง่ายแค่ไหน หากรู้ เข้าใจ และก็รับมือได้อย่างมั่นใจแล้ว ท้องนี้ยังมีเรื่องดีๆ รออยู่อีกมากมายนะคะ ขอให้มีความสุขกับการตั้งครรภ์ค่ะ

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง