รู้จักระบบประสาทสัมผัสของลูกน้อยในครรภ์


คุณแม่จะเล่นกับลูกได้ดี หากรู้ว่าระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของลูกน้อยในครรภ์พัฒนาไปอย่างไร โดยระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของลูกน้อยในครรภ์จะเกิดขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน

เริ่มรู้สึกถึงการสัมผัสแล้ว
ในสัปดาห์ที่ 8 ลูกในครรภ์เริ่มรู้สึกและรับรู้ถึงการสัมผัสแล้ว ในระยะแรกที่น้ำหนักตัวยังน้อย ทารกสามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้สะดวก แต่เมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้น ทารกจะจมลงสู่ฐานของมดลูกของแม่ เกิดการสัมผัสระหว่างผิวหนังของทารกกับผิวด้านในของมดลูก ซึ่งเป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึก เสริมสร้างให้เกิดใยประสาทของการรับความรู้สึกมากขึ้น นอกจานี้ การเคลื่อนไหวของน้ำคร่ำในมดลูก และรอบ ๆ ตัวทารก เปรียบเสมือนแม่ที่คอยลูบไล้ตัวลูก ช่วยพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึก อีกทั้งขณะที่แม่เคลื่อนไหว ทารกในครรภ์จะเอนตัวไปตามจังหวะการเคลื่อนไหวนั้น ผิวหนังของทารกจะได้รับการสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูกตลอดเวลา ทำให้ระบบประสาทส่วนนี้พัฒนาได้ดี

รับรู้เสียง เป็นลำดับต่อมา
ระบบประสาทรับสัมผัสที่เกิดขึ้นต่อมาจากผิวหนังก็คือ หู ซึ่งจะเริ่มสร้างขึ้นตอน 18 สัปดาห์ แต่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อถึงช่วง 24-26 สัปดาห์ ทำให้ลูกในครรภ์รับรู้เสียงได้แล้ว แต่เสียงที่เด็กได้ยินไม่ใช่เสียงที่ชัดเจนเหมือนที่เราได้ยิน เด็กได้ยินเสียงเหมือนเราได้ยินเสียงในน้ำ คือเสียงจะค่อนข้างอื้อ ๆ ก้อง ๆ
เสียงการเต้นของหัวใจแม่ เสียงการบีบตัวของลำไส้ เสียงการเคลื่อนไหวของกระแสโลหิตที่อยู่รอบตัวทารก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการระบบการได้ยิน โดยเฉพาะการเต้นของหัวใจแม่ การวิจัยพบว่าแม่ที่อุ้มลูกโดยให้ศีรษะอยู่ทางซ้ายมือนั้น ลูกจะไม่ค่อยร้องกวนและเลี้ยงง่ายกว่าการอุ้มโดยให้ศีรษะอยู่ทางขวามือ ทั้งนี้เพราะหัวใจแม่อยู่ทางซ้าย ลูกจะได้ยินเสียงเต้นจองหัวใจชัดเจนกว่าจึงรู้สึกอบอุ่น และหลับง่าย
เสียงที่ทารกในครรภ์ได้ยินอีกเสียง ก็คือเสียงของคุณแม่เอง ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากกล่องเสียงที่คอ เวลาเราเปล่งเสียง เสียงก็เดินทางผ่านอากาศออกไปสู่ภายนอก แต่โดยธรรมชาติแล้วเสียงจะเดินทางผ่านของแข็งได้ดีกว่าอากาศ เสียงจึงเดินทางผ่านลำตัวของคุณแม่ไปสู่ลูกได้ ลูกในครรภ์จึงสามารถได้ยินเสียงพูดของคุณแม่ได้ แม้ไม่ใช้เครื่องมือช่วยใด ๆ คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกในครรภ์บ้างหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง แม้ว่าลูกจะฟังไม่รู้เรื่องหรือได้ยินเสียงของคุณแม่ไม่ชัดนัก เพราะลูกแช่อยู่ในน้ำ แต่ลูกก็สามารถจดจำโทนเสียง ลักษณะเสียงของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี หลังจากคลอดแล้วลูกก็ยังสามารถจดจำเสียงจองคุณแม่ได้ทันที

การมองเห็นของเจ้าตัวเล็กในครรภ์
ทารกจะเริ่มลืมตามองเห็นผนังภายในมดลูกเมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ผนังมดลูกจะเริ่มบางลง ทำให้แสงสว่างผ่านเข้าสู่ภาใยมดลูกได้ จึงเกิดการกระตุ้นระบบการมองเห็นที่ดีได้ แต่ภาพที่ทารกเห็นก็ยังไม่ชัดเจน โดยเห็นภาพเป็นสีแดง เหมือนเราหลับตาสู้แสงก็จะเห็นแสงทะลุเปลือกตาเข้ามาเป็นสีแดง เมื่อลูกอยู่ภายในมดลูก ก็จะเห็นเหมือนเราแช่อยู่ในถังน้ำทรงกลมใบใหญ่ เมื่อมีแสงจ้าภายนอกทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวก็จะกลายเป็นสีแดงไปหมด
เด็กในท้องไม่ชอบแสงจ้ามาก ๆ หรือแสงไฟกระพริบ ลูกมักจะดิ้นมาก พยายามหนีแสงเหล่านี้ แม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรตากแดดจ้า ๆ

กลืนน้ำคร่ำเพื่อรับรู้รส
การกลืนเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาของขากรรไกรและกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้ปุ่มรับรสในลิ้นเกิดการพัฒนาด้วย สำหรับการดูดนิ้วซึ่งทารกมักทอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นประสาทการรับรส ทั้งยังเป็นพัฒนาการที่ผสมผสานระหว่างการมองและการรับรส รวมทั้งการเคลื่อนไหวของมือเข้าด้วยกัน

รับรู้อารมณ์แม่
ความรู้สึกอีกอย่างที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ลูกสามารถรู้สึกได้ นั่นก็คือ “อารมณ์ของคุณแม่” หากคุณแม่อารมณ์ดี มีความสุข ลูกก็มีความสุขด้วย ถ้าแม่เครียด ลูกก็เครียดด้วย แม่ซึ่งเปรียบเสมือนโลกใบเล็กของลูก เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นทุกอย่างของลูก เมื่อแม่มีความสุขสมองของแม่ก็หลั่งฮอร์โมนเอ็นเดอร์ฟินออกมาทั่วร่างกาย แล้วก็ส่งผ่านไปสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้ลูกรู้สึกดีตามไปด้วย หากคุณแม่โกรธฉุนเฉียวร่างกายของคุณแม่ก็จะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายทุกส่วนตึงเครียดรวมทั้งลูกในครรภ์ด้วย

ความรู้สึกที่ลูกในครรภ์ควรได้รับจากแม่ จึงควรเป็นความรู้สึกที่ดี แค่คุณแม่นั่งหลับตาคิดถึงแต่สิ่งที่ดี ๆ ก็ทำให้ลูกในครรภ์รู้สึกเป็นสุขได้

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง