เสียงดนตรี สื่อดี ๆ เพื่อเพิ่มไอคิวลูกน้อย ตอนที่ 1

เมื่อพูดถึง “ดนตรี” กับลูกในครรภ์ คุณแม่อาจนึกภาพความเกี่ยวข้องกันไม่ออก นักวิทยาศาสตร์เองได้ตั้งสมมุติฐานว่าเด็กในครรภ์สามารถรับรู้จังหวะของดนตรีได้หรือไม่ และได้ทำการศึกษาจนพบความจริงอันน่ามหัศจรรย์ว่า ลูกน้อยใยครรภ์สามารถรับรู้จังหวะของดนตรีได้และได้แนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ว่าควรให้ความสำคัญกับการให้ลูกได้ฟังเสียงดนตรี เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมาก


ดนตรี & แม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย

จากากรศึกษาถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์จากการตรวจอัลตราซาวนด์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ติดตามและวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวนด์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่าทารกมีการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับจังหวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วและสามารถเคลื่อนไหวตอบสนองตามเสียงที่มีจังหวะเร็วและช้า

จากการวิจัยนี้ยังพบว่า ทารกยังสามารถตอบสนองต่อเพลงที่ได้ยินจนคุ้นเคย และจะมีปฏิกิริยาต่อเพลงที่โปรดปรานด้วย รวมทั้งเพลงหรือดนตรีคลาสสิกที่คุณแม่เคยเปิดให้ฟังบ่อย ๆ ขณะอยู่ในครรภ์หลังจากคลอดออกมาแล้ว หากเปิดเพลงนั้นอีกลูกน้อยจะแสดงให้รู้ว่าจำได้

Dr.Leon Thurman นักวิจัยชาวอเมริกัน ได้ทดลองเปิดเสียงดนตรีให้คุณแม่ตั้งครรภ์ฟังทุกวัน พบว่าเด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาสูงกว่าเด็กทั่วไป และเด็กยังเลี้ยงง่าย มีอารมณ์แจ่มใส รวมทั้งมีความผูกพันกับคุณแม่เป็นอย่างมากอีกด้วย

ศาสตราจารย์ Donald J.Shetler จาก Eastman School of Music แห่งมหาวิทยาลัย Rochester ทำการศึกษาพบว่าทารกที่ได้รับเสียงดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จะมีอารมณ์ที่สงบเงียบ เยือกเย็นแจ่มใส มีพฤติกรรมสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สามารถเลียนแบบเสียงของผู้ใหญ่ได้เร็วกว่าปกติ และยังสามารถออกเสียงอ้อแอ้ได้เร็ววก่าทารกปกติทั่วไป

Dr.Thomas R.Verny จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสมาคมการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในสหรัฐอเมริกา ได้เคยกล่าวไว้ว่า ในกลุ่มคุณแม่ที่ร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกน้อยในครรภ์ฟังทุกวันอย่างสม่ำเสมอนั้น เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วและได้ยินเสียงเพลงนี้จากคุณแม่อีก ลูกน้อยมีแนวโน้มที่จะนิ่งเงียบและแสดงอาการสนใจเพลงนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้ทราบว่าทารกสามารถจำเสียงเพลงที่เคยได้ยินตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเมื่อคลอดออกมาทารกก็จะมีพัฒนาการที่ดี มีอารมณ์แจ่มใส ไม่ร้องกวน ตรงกันข้ามกับเสียงรบกวนต่าง ๆ ที่แม่ฟังขณะตั้งครรภ์ เช่น เสียงเครื่องบิน เสียงรถไฟ ซึ่งมีผลทำให้ลูกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย ขี้ตกใจ ร้องกวนหลังคลอด และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

ลูกในครรภ์อายุ 5 เดือน ระบบประสาทการรับฟังจะเริ่มทำงานการได้ยินเริ่มต้นขึ้น และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ คลื่นเสียงที่มีโครงสร้างที่เหมาะสม จะไปกระตุ้นเครือข่ายใยประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินให้พัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น เมื่อลูกออกมาลืมตาดูโลกจะมีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จากการวิจัยพบว่า ลูกน้อยมีการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับจังหวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สามารถเคลื่อนไหว และตอบสนองตามเสียงที่มีจังหวะเร็วและช้าได้ สามารถแยกแยะเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมถึงจดจำเสียงที่ได้ยินบ่อย ๆ เช่น เสียงคุณแม่ เสียงคุณพ่อ เสียงเพลงที่เปิดให้ฟัง ฯลฯ

ดนตรีแบบไหนเหมาะกับลูกในครรภ์

มีการศึกษาของศาสตราจารย์ Woodward แห่งมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ประเทศแอฟริการใต้ และ Michele Clements ได้ทำการศึกษาและพบตรงกันว่า เมื่อให้ทารกในครรภ์ฟังเพลงร็อก ทารกจะดิ้นอย่างรุนแรง และหัวใจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้าม หากให้ทารกฟังเพลงเย็น ๆ ช้า ๆ นุ่มนวล ทารกจะมีการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ และการเต้นของหัวใจก็เป็นไปอย่างปกติสม่ำเสมอ จากผลการวิจัยนี้ คุณแม่สามารถเลือกเพลงที่มีลักษณะดังกล่าวมาเปิดให้ลูกในท้องฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิก เพลงไทยเดิม ฯลฯ

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง