มะเร็งปากมดลูก ศัตรูอันดับหนึ่งของผู้หญิง

จากสถิติพบว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดของมะเร็งในผู้หญิง และพบมากในช่วงอายุ 35 – 60 ปี รองลงมาเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งตับตามลำดับ ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนก่อมะเร็ง แต่ก็ยังเป็นศัตรูอันดับหนึ่งในบรรดาโรคร้ายของสตรีทั่วทุกมุมโลก

ในแต่ละปี จะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ หลายหมื่นคน ซึ่งจะพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดในช่วงอายุ 31-60 ปี (ร้อยละ 80 ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด)  อายุต่ำสุดที่พบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกคือ 17 ปี และสูงสุดคือ 91 ปี

มะเร็งปากมดลูกจะไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ให้ทราบในช่วงแรก ซึ่งเซลล์ที่มดลูกมีโอกาสกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว และเซลล์นั้นจะค่อยๆ กลายเป็นเซลล์มะเร็งที่รุนแรงในที่สุด จนกระทั่งลุกลามไปที่อื่นซึ่งอยากต่อการรักษา วิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายนี้คือ เข้ารับการตรวจและทำการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ โดยสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มาจากการติดเชื้อไว้รัสฮิวแมนแพพิโลมา ซึ่งเรียกย่อ  ว่าเชื้อ “ เอชพีวี ” (Human Papilloma Virus : HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก เชื้อเอชพีวีมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

เชื้อเอชพีวี ชนิดก่อมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 16 , 18 , 31 , 33 และ 45 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคถึงร้อยละ 70 – 90
เชื้อเอชพีวี ชนิดไม่ก่อมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดที่อวัยวะเพศ

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกคือ การมีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย ตั้งครรภ์หรือมีลูกหลายคน มีประวัติเป็นกามโรค การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน และสำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีสีและกลิ่นผิดปกติ เมื่อสังเกตพบความผิดปกติเหล่านี้ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดทันที

มะเร็งปากมดลูกเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้

วิธีการตรวจแป๊ปแบบดั้งเดิม (Conventional Pap smear) โดยทำการตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก หรือตรวจหาเซลล์ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็ง โดยแพทย์จะเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยไม้พาย จากนั้นป้ายลงบนสไลด์แก้ว นำส่งป้องปฏิบัติการเพื่อย้อมสี และตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจด้วยวิธีนี้พบว่ามีการปนเปื้อนของมูก เซลล์เม็ดเลือด หรือการซ้อนทับกันของเซลล์หนาแน่น อาจทำให้บดบังเซลล์ผิดปกติได้ ทำให้อ่านผลยากโอกาสผิดพลาดสูง

วีธีตินแพร็พ (ThinPrep Pap Test) เป็นการตรวจโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะเก็บตัวอย่าง โดยแพทย์จะเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ จากนั้นจะนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บมาได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยาเพื่อรักษาเซลล์ ซึ่งจะทำให้ได้เซลล์ตัวอย่างครบถ้วน นำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมสไลด์ด้วยเครื่องอัตโนมัติ ทำให้ลักษณะสไลด์เป็นรูปแบบเดียวกัน เซลล์เรียงตัวแบบบางไม่ซ้อนทับกัน มองเห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่าย โอกาสพบเซลล์ผิดปกติสูง การศึกษาวิจัยสถาบันทั่วโลกพบว่าจากการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกโดยวิธี “ ตินแพร็พ ” นั้นให้ผลดีกว่าการตรวจแบบเก่าประมาณ 65 % และเป็นวีธีเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาว่าใช้แทนการตรวจแบบเดิมได้ และมีประสิทธิภาพสูงกว่า

วีธีตินแพร็พร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (ThinPrep Pap Test + HPVch2) การตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกโดยตรง โดยวิธีการตรวจนี้จะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อตรวจร่วมกับการตรวจตินแพร็พ
นอกจากการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจคัดกรองแล้ว การฉีด “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน

ตัววัคซีนทำจากส่วนประกอบของโปรตีนที่เปลือกหุ้มของเชื้อไวรัส HPV เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ได้ และมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด โดยเชื้อ HPV ที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ละสายพันธุ์มีอุบัติการณ์ของการก่อโรคมะเร็งปากมดลูกแตกต่างกัน โดยสายพันธุ์หลักๆ ที่เป็นสาเหตุคือ สายพันธุ์ 16 (ร้อยละ 57.4) สายพันธุ์ 18 (ร้อยละ 16.6)    เนื่องจากวัคซีนประกอบด้วย HPV 16, 18 จึงสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียงร้อยละ 70 แต่วัคซีนบางชนิดก็มีถึง 4 สายพันธุ์คือ 16, 18, 6, 11 ซึ่งสายพันธุ์ 6, 11 เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ดังนั้นถ้าได้รับวัคซีน 4 สายพันธุ์นี้ก็จะสามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ด้วย

ปัจจัยที่สำคัญในประสิทธิภาพของวัคซีนอีกอย่างหนึ่งคือ วัคซีนจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ต่อเมื่อผู้ที่รับวัคซีนต้องไม่มีการติดเชื้อ HPV ในสายพันธุ์เดียวกันกับที่มีอยู่ในวัคซีน เพราะหากมีการติดเชื้อในสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งในวัคซีนอยู่แล้ว การฉีดวัคซีนสายพันธุ์นั้นจะไม่ได้ผล เช่นหากมีการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 อยู่ เมื่อฉีดไปแล้วจะได้ผลคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์ 18 เท่านั้น โดยผลคุ้มกันสายพันธุ์ 18 จะได้ผลถึงร้อยละ 100 แต่ผลคุ้มกันสายพันธุ์ 16 จะไม่ได้ผลเลย

โดยสรุป การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียงร้อยละ 70 โดยประมาณ จะได้ผลดีต่อเมื่อผู้รับวัคซีนต้องไม่มีการติดเชื้อในสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่ในวัคซีน ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนในหญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน คือตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปจะได้ผลดียิ่งขึ้น โดยพบว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 9-15 ปี จะได้ผลดีกว่าการฉีดในผู้ใหญ่ 2-3 เท่า

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง