เสียงดนตรี สื่อดี ๆ เพื่อเพิ่มไอคิว ตอนที่ 2

การฟังเสียงดนตรี เป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาเซลล์สมองและเสียงดนตรีจะทำให้สมองซึกขวาและซ้ายทำงานไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือสมองซึกขวับรู้ถึงความไพเราะ ความรู้สึกผ่อนคลาย ส่วนสมองซีกซ้ายรับรู้ตัวโน้ตและจังหวะ เปรียบเสมือนการอ่านหนังสือ ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษและการใช้เหตุผล เสียงดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนาสติปัญญา (ไอคิว)และอารมณ์ (อีคิว) ของลูกไปพร้อม ๆ กัน การฟังดนตรีจึงช่วยกระตุ้นให้การสื่อสารข้อมูลของสมองส่วนต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเชื่อมโยงและราบรื่นยิ่งขึ้น


ฟังดนตรีบรรเลง ช่วยกระตุ้นสมอง

การได้ฟังเสียงดนตรีบรรเลง ที่ไม่มีเนื้อร้อง จะช่วยสร้างจินตนาการทางความคิด กระตุ้นให้สมองในส่วนต่าง ๆ ของผู้ฟังทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ จากสมองด้านข้างช่วยการรับรู้และได้ยิน เชื่อมต่อไปยังสมองส่วนหน้าของการคิดวิเคราะห์ หาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา และสมองส่วนหลังควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายในระยะยาว

ดนตรีคลาสสิก พัฒนาสมองได้จริง

ดนตรีคลาสสิกที่มีจังหวะช้า ฟังสบาย และมีความสมบูรณ์ของเสียงครบครัน เกิดจากการที่ผู้ประพันธ์เพลงและนักดนตรีได้นำเสียงที่ไพเราะมาเรียบเรียบให้เกิดเป็นเพลง จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็กให้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยพบว่า จังหวะ ท่วงทำนอง และความกลมกลืนของเสียงดนตรี จะสามารถกระตุ้นเซลล์ประสาทของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัย 0-3 ปี ให้แตกแขนงออกได้มาก ส่งผลให้เด็กมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ได้ดีขึ้น การฟังดนตรียังเกี่ยวข้องกับทักษะอื่น ๆ ของเด็ก ได้แก่ การเรียนรู้ การเข้าใจและการวิเคราะห์ดนตรี โดยทักษะการฟังถือว่าเป็นพื้นฐานของทักษะอื่น ๆ ทั้งหมด

จากการวิจัยพบว่า อารมณ์แห่งความสุนทรีย์ที่เกิดจากการฟังดนตรีในเด็กมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมสติปัญญา ความสนใจ ความจำ ซึ่งสมองส่วนนี้อยู่ในบริเวณสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ และการสร้างอารมณ์สุนทรีย์จากดนตรีจะทำให้เกิดการใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนพร้อมกัน

ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ที่ทดลองใช้ดนตรีกับเด็กวัย 3 เดือน เพื่อทดสอบความจำ หลังจากทดลอง 7 วัน พบว่า เด็กสามารถจดจำสิ่งที่กำหนดให้จำได้ง่ายขึ้น โดยยิ่งเปิดเพลงเดิมให้ฟัง เด็กจะจำง่าย และเรียนรู้ได้ดี ส่วนแม่ที่ร้องเพลงให้ลูกฟังขณะตั้งครรภ์ เมื่อร้องเพลงให้ลูกฟังอีกภายหลังคลอด ลูกจะทำท่าจำได้ โดยดูดนมแม่เร็วและถี่ขึ้น หรือหยุดดูชั่วขณะคล้ายกับตั้งใจฟังเสียงเพลง
นอกจากนี้ เพลงคลาสสิกยังทำให้สภาวะจิตใจสงบ กล้ามเนื้อสมองผ่อนคลาย จึงพร้อมรับข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ทำให้เรียนรู้ได้ดี

Mozart Effect ผลของดนตรีต่อสมอง

เมื่อหลายปีก่อน Dr.Gordon Shaw นักฟิสิกส์ที่สนใจเรื่องการนำไฟฟ้าของเซลล์สมอง ได้ร่วมกับ Dr.Frances Rauscher นักจิตวิทยา ศึกษาว่าดนตรีมีผลต่อการทำงานที่ซับซ้อนของสมองคนเราหรือไม่ โดยเลือกใช้บทเพลงเปียโน โซนาต้า หมายเลข K.488 ของอะมาดิอุส วูลฟ์กัง โมสาร์ท มาเป็นเครื่องมือในการทดสอบวัดความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเพลงที่มีความสดใส ร่าเริง มีความซับซ้อนของดนตรีเหมาะสมพอดี และโครงสร้างทุกอย่างของเพลงลงตัว ผลที่ได้เผยให้เห็นว่าท่วงทำนองของบทเพลงนี้ ทำให้คะแนนด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กกลุ่มมาทดลองเพิ่มขึ้นเมื่อฟังเพลงนี้เป็นเวลา 10 นาที แม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวก็ตาม แต่ผลจากการวิจัยครั้งนี้ส่งผลให้มีการพูดถึงคุณค่าของดนตรีกับการพัฒนาสมองในวงกว้างมาก และเชื่อกันว่าบทเพลงของโมสาร์ทนี้เหมาะสำหรับเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากให้ผลทางการเรียนดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้ฟังเพลงโมสาร์ท กระทั่งมีการใช้บทเพลงของเขา เป็นตัวช่วยเด็กเรียนคณิตศาสตร์ เหตุที่เพลงของโมสาร์ท สามารถไปกรุต้นความคิดด้านคณิตศาสตร์ ด้วยรูปแบบของตัวโน้ตที่ซับซ้อนช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวกับการคิดคำนวณในแบบที่ดนตรีชนิดอื่นไม่สามารถทำได้

ปัจจุบันครูอาจารย์ในโรงเรียนประถมของประเทศอังกฤษ Windhill Primary School in Southern Yorkshire ก็ได้ใช้เพลงของโมสาร์ทเปิดให้นักเรียนฟังในโรงเรียน เพราะพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้เกิดสมาธิในการเรียนได้จริง นอกจากนี้มีการศึกษาต่อมาที่พบว่าประสบการณ์ทางดนตรีในเด็กวัยก่อนเรียน ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาทักษะดนตรีในอนาคต และดนตรีช่วยให้มีพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านมิติสัมพันธ์ และความคิดเชิงเหตุผล

ดอน แคมป์เบล นักดนตรีและอาจารย์ชาวอเมริกันได้แนะนำพ่อแม่ให้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการบำบัดและส่งเสริมพัฒนาการของลูกอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ด้วยการเขียนหนังสือชื่อ The Mozart Effect เมื่อปี 1997 และให้ความหมายของคำว่า Mozart Effect ว่า “คืออิทธิพลของเสียง สีสัน และจังหวะของดนตรี ที่มีผลต่อร่างกาย จิตใจและความคิดของมนุษย์”

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

บทความสุขภาพที่เีกี่ยวข้อง